พบกันอีกครั้งกับคำถาม-คำตอบ เรื่องการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ของ สมศ. ค่ะ วันนี้หยิบใบคำถามที่เคยได้รับจากผู้เข้ารับฟังบรรยายสอบถามมา คิดว่าเป็นประเด็นที่สถานศึกษาหลายแห่งคงจะมีความสงสัยเหมือนกัน ว่าในรอบสี่นี้ สมศ. ยังให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน โดยเฉพาะ O-Net หรือไม่ และการประเมินจะพิจารณาอย่างไร
คำถาม: ถ้าโรงเรียนมีเป้าหมายเกี่ยวกับการพัฒนา O-Net ของนักเรียนซึ่งเป็นไปตามนโยบายต้นสังกัด สมศ.
จะพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในลักษณะใด
ในการประเมินคุณภาพภายนอก การพิจารณาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่ต่างกับเรื่องอื่นๆ คือใช้กรอบพิจารณา 3 ข้อ ได้แก่ ความเหมาะสมเป็นไปได้ ความน่าเชื่อถือ และประสิทธิผล การพัฒนาคะแนน O-Net เป็นเรื่องของผลสัมฤทธิ์เชิงวิชาการ ด้านคุณภาพผู้เรียน ซึ่งโรงเรียนอาจตั้งเป้าหมายว่าต้องการเพิ่มคะแนนเฉลี่ย O-Net ของทุกระดับ 10% แต่ในปีที่ขอรับการประเมินคุณภาพภายนอก สมมติว่า ผล O-Net เพิ่มขึ้นเพียง 3% ไม่ได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น โรงเรียนอาจได้รับผลการประเมินการประกันคุณภาพภายในสำหรับตัวชี้วัดนี้ในระดับที่ควรปรับปรุง (หรือระดับอื่นใดที่มาตรฐานการประกันคุณภาพภายในกำหนดไว้) ซึ่งผลการประเมินของการประกันภายในไม่ได้ยืนยันว่าผลการประเมินคุณภาพภายนอกจะได้ระดับเดียวกัน เนื่องจากใช้คนละกรอบการพิจารณา
การพิจารณาคุณภาพภายนอก สมศ. จะตั้งต้นจากความเหมาะสมเป็นไปได้ ว่าโรงเรียนตั้งเป้าหมายการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนด้านวิชาการไว้อย่างไร การใช้ผลสอบคะแนน O-Net แต่เพียงอย่างเดียวเหมาะสมเพียงใด เหตุใดจึงไม่ได้พิจารณาการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยมาตรฐานการสอบหรือวิธีอื่นๆ และพิจารณาต่อไปว่า การตั้งเป้า 10% ในบริบทของโรงเรียนนั้นเป็นไปได้หรือไม่ เช่น ถ้าโรงเรียนมีผลคะแนนเฉลี่ย O-Net ห้าปีที่ผ่านมาเกือบเท่ากันโดยตลอด การเร่งให้ผลสัมฤทธิ์เกิดมากถึง 10% จำเป็นต้องมีการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ในส่วนนี้โรงเรียนดำเนินการอะไร อย่างไรบ้าง หากข้อมูลทั้งหมดมีลักษณะเป็นเหตุเป็นผลกัน ก็จะทำให้การพิจารณาด้านความน่าเชื่อถือผ่านไปอย่างไม่มีข้อสงสัย ส่วนด้านประสิทธิผลนั้น จะพิจารณาว่า ผลคะแนนเฉลี่ย O-Net ที่ได้เพิ่มขึ้น 3% สมเหตุสมผลกับการดำเนินงานในเรื่องนั้นอยู่แล้วหรือไม่ หากว่าการดำเนินงานสอดคล้องกับประสิทธิผลที่ได้คือ 3% ก็เรียกได้ว่าประสิทธิผลสอดคล้องกับกระบวนการดำเนินงาน ไม่มีข้อสงสัยเช่นกัน เพราะงั้น กรณีนี้ จะกลับไปตั้งต้นที่ปัญหาการตั้งเป้าหมาย คือ เป้าหมายอาจไม่สอดรับกับกระบวนการดำเนินงาน คือ ตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก แต่การดำเนินงานไม่ได้เข้มข้นอย่างที่ควรจะเป็น ผู้ประเมินภายนอกก็จะให้ข้อเสนอแนะว่า โรงเรียนอาจต้องพิจารณาการตั้งเป้าหมายใหม่ และ/หรือ พิจารณาจุดที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กรณีนี้ ระดับคุณภาพของการประเมินภายนอก ด้านคุณภาพผู้เรียน** ก็น่าจะเป็นระดับ “ดี” เพราะได้ดำเนินการตามมาตรฐานการประกันคุณภาพภายในครบถ้วนแล้ว แม้ว่าผลการดำเนินงานจะยังไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ ซึ่งก็ต้องไปพัฒนาในประเด็นการตั้งเป้าหมายและกระบวนการดำเนินงานให้สอดรับกับเป้าหมายต่อไป
จะเห็นได้ว่า กรอบการพิจารณาของการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นคนละมิติกับการประกันคุณภาพภายใน และไม่ได้เป็นการสร้างมาตรฐานการประกันขึ้นมาใหม่ แต่พิจารณาตามมาตรฐานและบริบทของสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับสถานศึกษานั้นๆ
**หมายเหตุ: การพิจารณาระดับคุณภาพของการประเมินภายนอก จะให้ผลประเมินเป็นระดับคุณภาพสะท้อนแต่ละมาตรฐาน จึงต้องพิจารณาครอบคลุมทุกรายละเอียดในแต่ละมาตรฐาน ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นการพิจารณารายละเอียดเพียงเรื่องเดียวของมาตรฐานด้าน “คุณภาพผู้เรียน” การสรุปว่าได้ระดับ “ดี” ในที่นี้ จึงสรุปไว้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน แต่การพิจารณามาตรฐานด้าน “คุณภาพผู้เรียน” ในสถานการณ์จริง จะไม่ได้พิจารณาเฉพาะเรื่องผลสัมฤทธิ์ด้านวิชาการอย่างเดียว จะต้องพิจารณารายละเอียดทุกด้านในมาตรฐานด้านคุณภาพผู้เรียนค่ะ
พบกับคำถามที่น่าสนใจอื่นๆ ในโพสหน้านะคะ
ดร.สุทธิพร สัจพันโรจน์
อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล