Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

คำถาม-คำตอบ การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ. (ตอนที่ 4)

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
756 เข้าชม
(@iladmin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 120
หัวข้อเริ่มต้น  

พบกันอีกครั้งกับคำถาม-คำตอบ เรื่องการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ของ สมศ. นะคะ วันนี้จะขอพูดถึง “หลักฐานเชิงประจักษ์” ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีคนถามว่าคืออะไร อาจจะเพราะคิดว่าเข้าใจดีอยู่แล้ว แต่เมื่อดูผลสะท้อนจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกจะพบประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก จึงคิดว่าควรนำมาปุจฉากันให้ได้ทำความเข้าใจกันเพิ่มขึ้นค่ะ

คำถาม: อะไรนับเป็น “หลักฐานเชิงประจักษ์” ได้บ้าง

การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ของ สมศ. มีเป้าหมายหนึ่งคือเรื่องการลดภาระงานเอกสาร จึงได้เปิดช่องเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในกระบวนการเก็บข้อมูล ผู้ประเมินฯ สามารถใช้ “ร่องรอย” ของการดำเนินงานเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงจากเอกสารที่เป็นทางการเพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากผู้ประเมินฯ รู้จักใช้วิธีการที่หลากหลายในการค้นหา “ร่องรอย” ของการดำเนินงาน ก็จะทำให้การประเมินฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่เป็นภาระกับผู้ถูกประเมินฯ

วิธีการค้นหา “ร่องรอย” ของการดำเนินงานที่ทำได้ง่ายคือ คือ การสังเกต การสัมภาษณ์ และการจดบันทึก  สำหรับการสังเกต ผู้ประเมินฯ สามารถเลือกใช้มิติการสังเกตตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ ตัวอย่างเช่น การสังเกตสภาพแวดล้อมและวัตถุสิ่งของ (Physical places and objects) คือ การดูองค์ประกอบในเชิงกายภาพ เช่น สภาพตึก โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ในชั้นเรียน อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ  หรือ การสังเกตการกระทำ (Act) คือ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ว่ามีใครร่วมกิจกรรมบ้าง ผู้เข้าร่วมทำอะไรบ้าง เช่น กิจกรรมระหว่างพักกลางวัน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นต้น เทคนิคสำคัญคือ ระหว่างการสังเกต ควรพิจารณาช่วงเวลาที่ทำการสังเกตด้วย เช่น ช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย เนื่องจากธรรมชาติของการดำเนินกิจกรรมจะต่างกัน ช่วงบ่ายอาจจะร้อน หลังทานอาหารเด็กอาจรู้สึกง่วงนอน สิ่งเหล่านี้มีผลกับสถานการณ์และการดำเนินกิจกรรมทั้งสิ้น นอกจากนี้ ผู้ประเมินฯ ควรให้เวลาในการสังเกต ไม่ใช่เพียงแค่เดินผ่าน เช่น การสังเกตชั้นเรียน ควรนั่งอยู่ในชั้นเรียนอย่างน้อย 15 นาที เพราะผู้ถูกสังเกตอาจจะยังไม่คุ้นชิน ทำให้พฤติกรรมที่สังเกตได้ ไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติ

สำหรับการสัมภาษณ์ ผู้ประเมินฯ ควรใช้คำถามปลายเปิด เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดและเป็นตามสภาพจริง เช่น หากผู้ประเมินฯ อยากทราบเกี่ยวกับการดูแลความสะอาดเรื่องอาหารและน้ำดื่ม อาจเริ่มจากคำถามว่า ให้โรงเรียนช่วยเล่าเรื่องกิจวัตรประจำวันของนักเรียนให้ฟัง แล้วจึงค่อยถามเจาะจงลงไปเกี่ยวกับการทานอาหารต่อจากนั้น หรืออาจตั้งคำถามเชิงสมมติ เช่น ถ้านักเรียนท้องเสียจากอาหารหรือน้ำดื่ม โรงเรียนจะดำเนินการอย่างไรบ้าง  เป็นต้น การถามโดยใช้คำถามปลายเปิดหรือคำถามสมมติทำให้ผู้ถูกซักถามสามารถอธิบายขยายความประเด็นต่างๆ ได้ดี เป็นการเปิดรับความคิดและช่วยให้ผู้ถูกถามกล้าพูดและแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

สุดท้าย การจดบันทึก ถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด เนื่องจากผู้ประเมินฯ ไม่ควรถ่ายรูปหรือวีดีโอระหว่างการเก็บข้อมูล เพราะผู้ประเมินฯ จำเป็นต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคลากรในโรงเรียน วิธีการที่ดีที่สุดคือการใช้บันทึกของผู้ประเมินฯ ในการรวบรวมข้อมูล ผู้ประเมินฯ สามารถบันทึกเป็นตัวอักษรหรือวาดภาพได้ ดังนั้น การฝึกวาดภาพง่ายๆ จะช่วยให้ผู้ประเมินฯ บันทึกข้อมูลได้ตามจินตนาการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีหนังสือเกี่ยวกับการจดบันทึกเป็นภาพในตลาดอยู่หลายเล่ม ลองหามาอ่านกันได้ค่ะ

พบกับคำถามที่น่าสนใจอื่นๆ ในโพสหน้านะคะ

ดร.สุทธิพร สัจพันโรจน์
อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,395,500 views since 16 August 2018