“เมื่อเราฟังเสียงของเด็กอย่างแท้จริง เราจะค้นพบทิศทางใหม่ของการศึกษา”
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4: “การศึกษาที่เท่าเทียม ครอบคลุม และมีคุณภาพ” จำเป็นต้องอาศัยกลไกที่ลงลึกถึงพื้นที่จริง โครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดสมุทรสาครโดยสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำนวัตกรรมเชิงระบบมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านข้อมูลที่ได้จากตัวนักเรียนเอง
โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้กรอบวิจัย “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” (Education Sandbox) และใช้แนวทางวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยร่วมมือกับโรงเรียนนำร่อง 16 แห่ง ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
เปลี่ยน “คาบโฮมรูม” ให้เป็นพื้นที่สะท้อนเสียงของนักเรียน
หัวข้อของนวัตกรรมอยู่ที่ระบบ “Homeroom Online” ซึ่งเปิดพื้นที่ให้นักเรียนสะท้อนตนเองผ่านภารกิจรายเดือนในคาบโฮมรูม โดยครูจะส่งกิจกรรมให้นักเรียนตอบ เช่น แบบประเมินตนเองด้านพหุปัญญา ความคิดเชิงบวก หรือเป้าหมายชีวิต คำตอบของนักเรียนจะถูกประมวลผลด้วย AI และจัดเก็บในฐานข้อมูล เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม ความคิด และบริบทส่วนบุคคล
ข้อมูลนี้ช่วยให้ครู โรงเรียน และหน่วยงานระดับจังหวัดเข้าใจนักเรียนลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ในมิติของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แต่รวมถึงทักษะชีวิต ภูมิหลังครอบครัว และความพร้อมด้านจิตใจ
ข้อมูลชุดเดียว สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งระบบ
เมื่อเข้าใจนักเรียนได้ลึกขึ้น โรงเรียนก็สามารถออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน “สมุดพกนักเรียนรายบุคคล” ก็กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพูดคุยระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครองอย่างเป็นระบบ ข้อมูลจาก Homeroom Online ยังถูกใช้เป็นฐานในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับครู และใช้ในวงประชุมเพื่อพัฒนานโยบายในระดับจังหวัด โดยสรุปจากการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ พบว่าส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาในหลายระดับ ได้แก่
-
- นักเรียน ได้รับสมุดพกรายบุคคลที่สรุปข้อมูลจากการทำภารกิจ ซึ่งช่วยให้ครูสามารถพูดคุยและให้คำแนะนำเชิงลึกอย่างเหมาะสม (มีนักเรียนได้รับประโยชน์จำนวน 4,634 คน)
- ครู ได้รับการอบรมด้วยหลักสูตรที่ออกแบบตาม “ลักษณะของนักเรียนที่มุ่งหวัง” ทำให้การพัฒนาครูไม่ใช่การฝึกอบรมแบบสำเร็จรูป แต่เป็นการสร้างกระบวนกรทางการเรียนรู้ (มีครูผ่านาการอบรมจำนวน 342 คน)
- ผู้ปกครอง ได้รับการส่งเสริมบทบาทผ่านหลักสูตร “คุยกับลูกแบบผูกใจ” ซึ่งนำข้อมูลจาก Homeroom Online มาใช้ในการออกแบบ ทำให้ผู้ปกครองสามารถเข้าใจลูกหลานของตนเองอย่างลึกซึ้ง และสามารถสื่อสารกับลูกอย่างเปิดใจ (มีผู้ปกครองผ่านหลักสูตรจำนวน 102 คน)
- ผู้บริหารโรงเรียน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลนักเรียนร่วมกับครู และมีส่วนร่วมในการปรับนโยบายในระดับโรงเรียน โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกเป็นพื้นฐาน ตลอดจนการจัดวงสนทนาเพื่อสะท้อนคิดร่วมกันในระดับผู้บริหาร ส่งผลให้การบริหารจัดการโรงเรียนมีทิศทางที่เชื่อมโยงกับความต้องการที่แท้จริงของนักเรียนและชุมชน (มีผู้บริหารโรงเรียนได้รับประโยชน์จำนวน 16 คน)
- ชุมชน ได้เห็นข้อมูลเชิงลึกจากเด็กในพื้นที่ ทำให้ภาคประชาสังคมตื่นตัว เช่น มีการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและเครือข่ายท้องถิ่นเพื่อมอบทุนเรียนอาชีวะให้เด็กที่ขาดโอกาส รวมถึงการวางแผนสนับสนุนกิจกรรมเชิงพัฒนาในระดับท้องถิ่นอย่างตรงจุด
- นโยบาย ข้อค้นพบจากโครงการถูกเสนอผ่านกระบวนการ “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” (Social Lab) ให้แก่ผู้มีอำนาจระดับจังหวัด เพื่อผลักดันนโยบายที่สะท้อนความจริงจากห้องเรียน
ครูคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง: พัฒนาอย่างเป็นองค์รวมมีเป้าหมายเพื่อผู้เรียน
โครงการนี้ พัฒนาครูด้วยรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “4P Model” ที่ส่งเสริมศักยภาพแบบองค์รวม ซึ่งประกอบด้วย
-
- Passionate Heart – ฟื้นฟูหัวใจครู ผ่านกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา
- Pragmatic Mind – พัฒนาการคิดเชิงเหตุผลและความสามารถในการตั้งคำถามอย่างมีคุณภาพ
- Practical Skills – ฝึกใช้กิจกรรมที่ออกแบบจากข้อมูลนักเรียนจริงในห้องเรียน
- Proactive Reflection – เปิดพื้นที่ให้ครูสะท้อนผลร่วมกันในวง PLC อย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาครู จึงไม่ใช่แค่การเพิ่มความรู้ แต่เป็นการสร้าง “ความมั่นใจ” และ “พลังใจ” ให้ครูกลับมาเป็นนักออกแบบการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนอย่างแท้จริง
จังหวัดขับเคลื่อนร่วมกัน: จากโรงเรียน สู่ชุมชน และนโยบาย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่ยังขยายออกไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น “โรงเรียนพ่อแม่” ที่เปิดให้พื้นที่ให้ผู้ปกครองเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียน และแนวคิด “วิชาชีพจีบวิชาชอบ” ที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รู้จักอาชีพหลากหลายตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ที่สำคัญที่สุดคือ จังหวัดสมุทรสาครได้สร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันวางแผนและตัดสินใจโดยมีข้อมูลจริงเป็นฐาน
ทั้งหมดนี้สะท้อน SDG เป้าหมายที่ 17 ว่าด้วย “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
บทสรุป: เมื่อข้อมูลเปลี่ยนอนาคตของเด็ก ๆ
โครงการนี้แสดงให้เห็นว่า หากระบบการศึกษาฟังเสียงของผู้เรียนอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงก็สามารถเริ่มต้นได้จากห้องเรียน ข้อมูลจากนักเรียนคือพลังที่สามารถนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ การพัฒนาครูเชิงคุณภาพ และการขับเคลื่อนนโยบายในระดับจังหวัด สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครไม่ได้เป็นเพียงโครงการนำร่อง แต่คือการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่เริ่มจากการฟังเสียงของนักเรียนอย่างแท้จริง แล้วใช้ข้อมูลนั้นสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่เหมาะสมกับทุกคนอย่างเท่าเทียม เป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จับต้องได้จริง และขยายผลได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
การฟังเสียงของเด็กไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะในโครงการนี้เท่านั้น แต่ควรเป็นกลไกถาวรในระบบการศึกษาไทย หากเราต้องการให้เด็กเติบโตอย่างเข้าใจตนเอง พัฒนาตนเองได้ และพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลง การพัฒนาระบบ “ข้อมูลจากนักเรียน” และการสร้างพื้นที่ร่วมคิดของทุกภาคส่วน คือคำตอบของการศึกษาที่มีชีวิต มีหัวใจ และมีอนาคต
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เชื่อมโยงกับโครงการ
การดำเนินโครงการนวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดสมุทรสาครครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเฉพาะใน 3 ด้านสำคัญ ดังนี้:
-
- SDG 4: การศึกษาที่เท่าเทียม ครอบคลุม และมีคุณภาพ – โครงการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการฟังเสียงของนักเรียนและการใช้ข้อมูลจริงเป็นฐานในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมแก่ผู้เรียนทุกกลุ่ม ทั้งในระดับขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และการศึกษาตลอดชีวิต รวมถึงการพัฒนาครูด้วยหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง อันสะท้อนถึงการบรรลุเป้าหมายย่อย เช่น 1, 4.3, 4.5 และ 4.c
- SDG 10: ลดความเหลื่อมล้ำ – หนึ่งในจุดแข็งของโครงการ คือการใช้ข้อมูลจากระบบ Homeroom Online เพื่อเปิดเผยความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำที่มักซ่อนอยู่ภายในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ สภาพครอบครัว หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้โรงเรียนสามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของเด็กแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนเปราะบาง เช่น เด็กยากจน เด็กไร้สัญชาติ หรือเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา
- SDG 17: หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน – การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร ไม่ได้มาจากพลังของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งมหาวิทยาลัย โรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ต่างร่วมมือกันออกแบบนโยบาย พัฒนากิจกรรม และแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบ กลไกการทำงานร่วมกันเช่นนี้คือภาพสะท้อนของหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง
เรื่องโดย
ผศ.ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม