ในปัจจุบันนั้น นักวิทยาศาสตร์และการสื่อสารวิทยาศาสตร์นั้น เป็นสองสิ่งไม่ควรแยกจากกัน เพราะบุคคลที่มีความรู้เพียงพอที่ออกมาสื่อสารวิทยาศาสตร์มากที่สุด จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากตัวนักวิทยาศาสตร์เอง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงควรเรียนรู้ที่จะสื่อสารวิทยาศาสตร์ และอีกหนึ่งความจำเป็น ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเป็นผู้ออกมาสื่อสารวิทยาศาสตร์ ก็คือนักวิทยาศาสตร์ต้องเป็นผู้ที่ชี้แจงความสำคัญของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตนเองทำอยู่ ต่อหน่วยงานที่ให้ทุนทำวิจัย และต่อประชาชน เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของงานวิจัยที่ตนเองกำลังทำอยู่ ว่าจะเกิดประโยชน์ใดบ้างต่อสังคม ซึ่งทั้งสองสิ่งที่กล่าวมานี้ ล้วนต้องอาศัยทักษะในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น
ในการฝึกทักษะการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์นั้น ในต่างประเทศ มีการจัด training course หรือ workshop กันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น workshop ที่จัดโดย AAAS (American Association for the Advancement of Science) ซึ่งได้มีการจัด science communication workshop ให้แก่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ที่ทำงานในสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานวิจัยต่าง มาตั้งแต่ปี 2008 นอกจากนี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่าง Harvard University ก็ได้ร่วมมือกับนักศึกษาจากอีกสองมหาวิทยาลัยคือ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ the University of Colorado at Boulder ในการจัด Communication Science Workshop ให้กับนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในปี 2012 โดยในปัจจุบัน มีนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาได้เคยเข้า workshop นี้มาแล้วกว่า 3000 คน
ที่มาของข้อมูล
1) ปฐมสุดา อินทุประภา. (2562). การสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science Communication), 13 มิถุนายน 2562. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/140358
2) Communicating Science Workshops. https://www.aaas.org/programs/communicating-science
3) ComSciCon-Flagship Workshop 2022. https://comscicon.com/comscicon-flagship-workshop-2022