การให้นักเรียนไปสืบค้นขั้นตอนการทำสิ่งประดิษฐ์แล้วทำตาม ไม่ถือว่าเป็นโครงงาน!!!
หลายครั้งที่เจอโครงงานแบบนี้ เมื่อถามว่าทำไปทำไม คำตอบที่ได้คือ "อยากทำ" "เพิ่มมูลค่า" “ลดขยะ” "ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์" ทำเสร็จก็ "ได้ของ" พอถามหาหลักฐานว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าไรก็ถึงกับงง ที่บอกว่าลดขยะก็บอกไม่ได้ว่าลดไปได้แค่ไหน ไม่มีข้อมูลแสดงให้เห็น แล้วพอถามหาหลักฐานว่าใช้ได้ดีแค่ไหน มีแต่ผลการสำรวจ "ความพึงพอใจ" มาให้ดู (แทบจะเป็น template ของโครงงานแนวนี้เลยทีเดียว) พอถามว่าที่เขาชอบเป็นเพราะอะไร มีจุดไหนที่ยังไม่โดนหรือเขาไม่ชอบใจหรือไม่ (ที่ถามเพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป)...ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้คำนึงถึงประเด็นนี้
บางงานมีของมาโชว์ ประดิษฐ์ของที่หลากหลายจากวัสดุเดียวกันในรูปแบบที่หลากหลาย และมีความพึงพอใจมาให้ดู พอถามว่า "ของรูปแบบใดที่คนชอบมากที่สุด และเหมาะจะขายใครหรือลูกค้ากลุ่มใด"...ตอบไม่ได้เพราะตอนสำรวจถามแบบรวมๆ และไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มลูกค้า
หลักคิดเมื่อทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์
ในที่นี้ขอโฟกัสไปที่ “ของ” ที่มักเจอบ่อย อยากชวนครูฝึกนักเรียนคิดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์แบบเชื่อมโยงกับแนวคิดการตลาด ซึ่งเป็นทักษะอาชีพที่เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะตัดสินใจว่าทำอะไร หรือทำแบบไหน ควรจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า "ลูกค้าคือใคร" และ "ลูกค้าอยากได้อะไร" ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ ที่สำคัญคือ "การคิดต้นทุน" เพื่อกำหนดราคาขาย อย่าลืมว่าหากทำแล้วแพงกว่าเดิมจะขายยาก ขายเท่าเดิม "ไม่ได้กำไร" หรืออาจ "ขาดทุน"
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโครงงานสิ่งประดิษฐ์บางอันมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน
กรณี #สบู่จากผลไม้ชนิดต่างๆ เด็กมักจะอ้างว่าผลไม้มีคุณสมบัติดีอย่างนั้น อย่างนี้ จึงจะเอามาทำสบู่ แต่พอทำแล้วไม่เห็นทดสอบว่าดีสมอ้างหรือเปล่า ที่สำคัญคือผลไม้ที่เอามาทำนั้นมันมีราคา หากเอามาทำสบู่ จะคุ้มค่าหรือไม่ (อันนี้ลองคิดว่าในจำนวนที่เท่ากัน หากเอาไปขายจะได้ราคาเท่าไหร่ พอเอามาทำสบู่ขายได้ราคาเท่าไหร่ ที่อ้างว่า "เพิ่มมูลค่า" สรุปแล้วมันเพิ่มจริงหรือ?) ได้สบู่ออกมาแล้ว มันมีประสิทธิภาพดีกว่าไม่ใส่ผลไม้หรือไม่ (ถ้าไม่ต่างกัน ก็อย่าทำเลย เหนื่อยและไม่คุ้ม) อันไหนมีประสิทธิภาพดีที่สุด รู้ได้อย่างไร...การทดสอบประสิทธิภาพนี้ไม่ใช่ดูแค่ความพึงพอใจ ลองถามตัวเองดู "เราอยากได้สบู่แบบไหน สบู่แบบไหนเป็นสบู่ที่ดี".....ฟองเยอะ ล้างออกง่าย จับง่ายไม่หลุดมือ กลุ่นหอม การละลายน้ำ (ถ้าละลายดีก็จะหมดเร็ว)
กรณี #ลิปสติกจากผลไม้ เด็กมักจะอ้างว่าผลไม้ชนิดที่เลือกมามีสารที่ทำให้ปากชุ่มชื้น (แต่ในความจริงคุณสมบัติที่กล่าวถึงมันไม่ได้เป็นสารตัวนั้น) พอทำเสร็จก็ไม่ได้ทดสอบเทียบกับ control (ลิปสติกที่ทำเหมือนกันแต่ไม่มีส่วนผสมของผลไม้) เพื่อจะพิสูจน์ว่าตกลงแล้วลิปสติกจากผลไม้นั้นช่วยให้ปากชุ่มชื้นจริงหรือ หรือจริงๆ แล้วลิปสติกปกติมันมีสารอื่นที่ช่วยให้ปากชุ่มชื่นอยู่แล้วไม่ได้มาจากผลไม้ที่เราใส่เข้าไป
กรณี #ชาผลไม้ มันต้องเริ่มตั้งแต่แนวคิดในการคัดเลือกชนิดผลไม้ที่เอามาทำชา มันไม่ควรจะเป็นผลไม้ที่มีน้ำมาก เพราะหากมีน้ำมากเราจะต้องใช้เวลานานในการทำให้เนื้อมันแห้ง และคำถามที่ควรจะถามต่อเมื่อได้ชามาแล้วคือ "ชาที่ดีมีคุณสมบัติอย่างไร ชาที่ได้นี้ควรแช่หรือต้มในน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน แช่หรือต้มนานแค่ไหน เก็บได้นานแค่ไหน และควรเก็บอย่างไร (คำถามเหล่านี้ มาจากชีวิตจริงในการเลือกซื้อชา)...นักเรียนโรงเรียนทานตะวันไตรภาษาได้นำเสนอโครงงานเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างดีทีเดียว แม้ในตอนแรกจะเลือก "ชมพู่" มาทำชา แต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้ว่าผลไม้ที่น้ำเยอะไม่เหมาะ แต่ชาชมพู่ม้นหอมนะ (แอบหยอดท้ายชวนให้ชิม)
กรณี #ผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้ มันไม่ใช่แค่การทำให้ได้ผ้ามัดย้อม แต่มีมุมมองให้ศึกษา อาทิ ชนิดของเปลือกไม้ที่นำมาย้อม ปริมาณสารที่ใช้และเวลาที่ย้อม รวมทั้งชนิดของผ้า และเมื่อได้ผ้าแล้วก็อย่าไปเสียเวลาเอาผ้าไปทำผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม แต่ควรจะต้องดูคุณภาพของผ้าที่ผ่านการย้อมด้วยเปลือกไม้ด้วย ในที่นี้นักเรียนโรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์ได้ทำไว้ดีทีเดียว คือนอกจากจะดูว่าสีย้อมจากเปลือกไม้ใดเป็นที่ชื่นชอบมากกว่ากันแล้ว ยังดูในเรื่องของการติดสีทน ซัก-ตาก-รีด แล้วสีจะจางลงหรือไม่อีกด้วย (เทียบระดับสีเหมือนโฆษณาผลิตภัณฑ์หน้าขาวกันเลยทีเดียว)
ที่เอามาเล่าไม่ได้ให้อยากทำตามนี้ เพราะจะดีกว่า...หากครูใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิดเอง...วิธีการอาจจะออกมาหลากหลายแตกต่าง....ความสร้างสรรค์อาจมีให้เห็น
#อย่าลืมจุดยืนที่ว่าเราเน้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน
#ความสำคัญอยู่ที่ครูทำให้เด็กเรียนรู้กับบริบทจริง
เรื่องโดย ผศ.ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล