การทำโครงงานฐานวิจัยของนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา แต่ละห้องทำ 10 โครงงาน (หรืออาจมากกว่า) ภายใต้ประเด็นหลักเดียวกัน สำหรับโจทย์วิจัยขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กเป็นหลัก โดยจุดเริ่มต้นของการทำโครงงานในห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาก็คือการคิดหาประเด็นหลักจากเรื่องราวรอบๆ ตัวเด็กภายใต้ 3 กลุ่มประเด็นหลัก ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ อาชีพ และกิจกรรมชุมชน จากนั้นร่วมกันโหวตเลือกประเด็นหลักของห้อง แล้วค่อยแตกเป็นโจทย์โครงงานตามความสนใจ ดังตัวอย่างในแผนภาพด้านล่าง
หลังจากได้ประเด็นหลักที่หลากหลาย ผู้เสนอแต่ละประเด็นหมุนเวียนกันนำเสนอเรื่องราวเพื่อโน้มน้าวเพื่อนๆ ในห้องว่าเรื่องนั้นๆ น่าสนใจอย่างไร แล้วจึงร่วมกันโหวตเลือกประเด็นหลักของห้อง ในตัวอย่างนี้ เสียงส่วนใหญ่ของห้องโหวตเลือกประเด็นเรื่อง “ทอผ้า” จากนั้นผู้เรียนจะจับกลุ่มกันไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหาโจทย์โครงงานแบบไร้กรอบสาระ ดังนั้น โครงงานทั้ง 10 เรื่อง ก็อาจจะเป็นโครงงานที่แยกศาสตร์ อาจเน้นหนักไปทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ หรืออาจจะรวมทั้ง 3 ศาสตร์อยู่ในโครงงานเดียว
ในห้องเรียนนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นระยะ ตั้งแต่การออกแบบวิธีการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุปข้อมูล ที่ท้ายสุดแล้วจะร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเดียวกัน การเรียนรู้ภายใต้ประเด็นหลักเดียวกันนี้ จึงเป็นการเรียนรู้แบบ Theme-based learning
เรื่องโดย ผศ.ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล