ประสบการณ์จากการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาอย่างต่อเนื่อง 5 ปีกว่า ทำให้เห็นการพัฒนาทักษะคิดของนักเรียนที่เรียนรู้จากการปฏิบัติโดยการทำโครงงานฐานวิจัย (Research Based Project, RBP) ซึ่งหลายคนคงมีคำถามว่ารู้ได้อย่างไร แน่นอนว่าต้องมีเครื่องมือวัดและประเมินผล โดยในโครงการนี้ วัดจากผลงานหรือสิ่งที่นักเรียนสะท้อนออกมา ตั้งแต่วันแรกที่นักเรียนเริ่มหาโจทย์ เรื่อยมาจนกระทั่งนักเรียนนำเสนอโครงงานตอนปลายเทอม สิ่งสำคัญไม่ใช่คะแนน ไม่ใช่เกรด หากแต่เป็น Cognitive Growth ของนักเรียนแต่ละคน…ขอพาย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น (แต่ไม่ต้นซะทีเดียว) คือ “การตั้งสมมติฐาน” ที่จะทำให้เรารู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีทักษะคิดหรือไม่ ในระดับใด
การตั้งสมมติฐานคือการคาดคะเนผลอย่างมีหลักการและตรรกะรองรับ ไม่ใช่การเดา!!! ขออนุญาตนำโครงงานยอดฮิตมาเป็นกรณีศึกษา คือโครงงานทำม้านั่งจากกระดาษหนังสือพิมพ์ นักเรียนตั้งสมมติฐานว่า “กระดาษหนังสือพิมพ์ทำม้านั่งได้” อันนี้ผิด ขอย้ำว่า สมมติฐานคือการคาดคะเน “ผล” อย่างมีหลักการและตรรกะรองรับ”สำหรับกรณีนี้ ผลก็คือประสิทธิภาพของม้านั่ง นั่นคือ เมื่อทำม้านั่ง ม้านั่งนั้นก็ต้องใช้นั่งได้ในบริบทจริง ซึ่งก่อนที่จะมาถึงการตั้งสมมติฐาน ครูต้องชวนเด็กหาความรู้เรื่องกระดาษก่อน ซึ่งจะทำให้เด็กพบว่ากระดาษมีหลายชนิด แต่ละชนิดทำจากเส้นใยที่แตกต่างกัน ผ่านกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน จึงทำให้กระดาษเหล่านั้นมีคุณสมบัติ เช่น ความเหนียว ความยืดหยุ่น ต่างกัน ความรู้นี้จะเป็นที่มาของการตั้งสมมติฐาน เช่น “ม้านั่งที่ทำจากกระดาษ A และ B (ซึ่งคุณสมบัติต่างกัน) มีประสิทธิภาพต่างกัน”
จากตัวอย่างข้างต้น พอจะเห็นกระบวนการคิดในการตั้งสมมติฐานหรือไม่ ลองนึกถึง Cognitive domain ของ Bloom ที่หลายคนอาจจะท่องจำว่า “จำ ใจ ใช้ วิ ประ สัง” ซึ่งก็คือ “รู้จำ เข้าใจ ใช้ได้ วิเคราะห์ ประเมิน และ สังเคราะห์” ทีนี้กลับมาดูสมมติฐานโครงงานม้านั่งของเด็กกัน
คนที่ 1 ตั้งสมมติฐานว่า “กระดาษหนังสือพิมพ์ทำม้านั่งได้”
คนที่ 2 ตั้งสมมติฐานว่า “ม้านั่งจากกระดาษ A และ B มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน” แต่เมื่อซักแล้วเด็กไม่สามารถอธิบายหลักการอันเป็นที่มาของสมมติฐานได้ เป็นการตั้งแบบเดาล้วนๆ
คนที่ 3 ตั้งสมมติฐานเหมือนคนที่ 2 โดยมีการอธิบายที่มาของสมมติฐานว่า “กระดาษ A และ B มีลักษณะที่แตกต่างกัน น่าจะทำจากเส้นใยที่ต่างกัน และเส้นใยแต่ละชนิดก็มีคุณสมบติต่างกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเอากระดาษที่ต่างกันนี้มาทำม้านั่ง ก็น่าจะมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน
คนที่ 4 คิดเหมือนคนที่ 3 แต่อธิบายเพิ่มอีกว่าเส้นใยแบบไหนมีลักษณะอย่างไร และคุณสมบัติดังกล่าวจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของม้านั่งอย่างไร
จากกรณีสมมติฐานของนักเรียนทั้ง 4 คน ประเมินได้ว่า
คนที่ 1 ยังขาดทักษะคิด ไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นแรกของ Bloom เลย
คนที่ 2 แทบไม่ต่างกับคนแรก แต่ดีกว่าหน่อยตรงที่สมมติฐานเริ่มมาถูกทาง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามีความรู้เรื่องวิธีตั้งสมมติฐาน
คนที่ 3 และ 4 มีทักษะคิดในขึ้น “ประยุกต์” คือสามารถนำความรู้เดิมเรื่องเส้นใยมาใช้ในบริบทของม้านั่ง แต่คนที่ 4 มีความรู้มากกว่า มีการคิดวิเคราะห์แบบเหตุและผล คือ เส้นใยลักษณะหรือคุณสมบัติแบบนี้ น่าจะส่งผลแบบนี้
ทีนี้ลองกำหนดระดับคะแนนด้านทักษะคิด เป็นตัวเลข 0-3 โดยตั้งเกณฑ์แบบ Rubric และใช้เกณฑ์นี้ติดตามวัดและประเมินไปจนจบ ก็จะได้ข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อเพื่อดูพัฒนาการด้านทักษะคิดของเด็กได้
เรื่องโดย ผศ.ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล