Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

เพาะพันธุ์ปัญญา The Series ตอน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ในกระบวนการเก็บข้อมูลโครงงาน

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
340 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 6 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

ความคิดสร้างสรรค์ที่จะกล่าวถึงนี้ ไม่ใช่ “ผลิตภัณฑ์” หากแต่หมายถึง “วิธีการวัดผล” ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดด้านเครื่องมือและงบประมาณในการทำโครงงานฐานวิจัยของนักเรียน

การทำโครงงานที่ไม่ได้หวังเพื่อให้ได้ผลงานไปประกวด หากแต่เน้นการพัฒนานักเรียนให้เกิดทักษะ เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำโครงงาน ซึ่งแน่นอนว่าหลายโรงเรียนจะถามหาเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับการวัดผลต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูล แต่ภายใต้ข้อจำกัดของหลายโรงเรียน ทำให้ไม่มีเครื่องมือ และสิ่งนี้เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์...ขอยกตัวอย่างโครงงาน “แชมพูน้ำมันมะพร้าว” ของนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวัดดอนมะโนรา ที่เด็กจะต้องพิสูจน์ประสิทธิภาพของแชมพูที่มีน้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนผสมในอัตราส่วนต่างๆ แน่นอนว่าเมื่อนึกถึงประสิทธิภาพของแชมพูก็ต้องนึกไปถึงการล้างสิ่งสกปรกออกจากเส้นผม และควรจะต้องทำให้ผมนุ่มชุ่มชื้น แล้วจะทดสอบอย่างไร??

หลายคนอาจนึกไปถึงการทดลองสระกับผมจริง คำถามคือ จะแบ่งผมแบ่งหัวกันอย่างไร ต้องสระกี่ครั้ง และต้องทำกี่หัว และในการทดลองจะต้องควบคุมอะไรบ้าง???...แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือวิธีการที่หลุดจากกรอบคิดดังกล่าวหรือ “มองข้ามหัว” ไปเลย...มาดูกันว่าเด็กใช้วิธีการอะไร กระบวนการเริ่มจาก การวัดความชุ่มชื้น ที่ครูป้อนคำถามชวนให้เด็กคิด ความชุ่มชื้นคืออะไร ความชุ่มชื้นลดลงได้อย่างไร มีอะไรหายไปเมื่อชุ่มชื้นลดลง...เมื่อมาถึงตรงนี้ หลายคนเริ่มนึกถึง “น้ำ” เมื่อน้ำหายไป ความชุ่มชื้นลดลง แต่จะวัดการหายไปของน้ำได้อย่างไร ระหว่างการวัดน้ำที่หายไปและการวัดสิ่งที่เหลืออยู่ อะไรทำง่ายกว่ากัน...ถึงตรงนี้ เด็กบางคนอาจจะตอบได้แล้ว แต่เด็กบางคนอาจจะต้องป้อนคำถามต่อ ของเริ่มต้นชุ่มชื้นเพราะมีน้ำ น้ำหายไปเมื่อเวลาผ่านไป ของชิ้นเดิมมีน้ำน้อยลง...เด็กๆ ร้อง “อ๋อ” เราวัดน้ำหนักที่หายไปได้ จึงเป็นที่มาของการวัดความชุ่มชื้น

เด็กๆ ออกแบบการทดลองโดยใช้ใบไม้ขนาดใกล้เคียงกันหลายๆ ใบ ชั่งน้ำหนักตอนเริ่มต้น นำไปจุ่มในแชมพูแต่ละสูตร แล้วตั้งทิ้งไว้ จากนั้นบันทึกน้ำหนักใบไม้อีกครั้ง

พอมาถึงประเด็นสิ่งสกปรก เด็กๆ คิดได้ไวมาก พยายามคิดถึงตัวแทนสิ่งสกปรกแล้วเอามาเคลือบที่ช้อนสีขาว จากนั้นจุ่มในแชมพูแต่ละสูตร นับจำนวนครั้งที่จุ่มจนกระทั่งช้อนขาวสะอาด

แม้จะได้ผลที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ทำให้ได้ข้อมูลนำมาสู่การวิเคราะห์สังเคราะห์หาข้อสรุปที่เด็กๆ ก็ไม่ลืมประเด็นว่ายังไม่ได้ทดสอบกับผมคนจริงๆ

นอกจากโครงงานแชมพูสระผมแล้ว เรายังสามารถเห็นกระบวนการคิดแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ได้ในโครงงานที่แสนจะธรรมดา และพบเห็นบ่อยๆ อีกโครงงานหนึ่งคือ “ยาขัดรองเท้า” ที่ต้องยกนิ้วให้กับคุณครูเพาะพันธุ์ปัญญาของเราท่านหนึ่งที่ตั้งคำถามต้อนให้เด็กคิด “จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำยาขัดรองเท้าสูตรไหน มีประสิทธิภาพมากที่สุด” “อะไรที่จะเป็นตัวบอกว่ามันมีประสิทธิภาพดี และจะวัดอย่างไร”...ไม่เฉลยว่าเด็กวัดผลอย่างไร แต่บอกเลยว่าแตะเนื้อหาฟิสิกส์กันเลยทีเดียว

 

(ผู้เขียนบทความ: ผศ.ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม)


   
อ้างอิง

ทิ้งคำตอบไว้

ชื่อผู้แต่ง

อีเมลผู้เขียน

ตำแหน่ง *

 
ดูตัวอย่าง แก้ไข 0 ครั้ง บันทึกแล้ว
แบ่งปัน:
1,257,917 views since 16 August 2018