อคติหรือ Bias ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการไม่ยอมรับวิทยาศาสตร์ สำหรับการสร้างอคติเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง (confirmation bias/myside bias) นั้น มีอิทธิพลต่อการไม่ยอมรับวิทยาศาสตร์ในแง่ของ อคตินั้นทำให้บุคคลนั้นมองไปที่เฉพาะข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อเดิมของตนเอง หรือเลือกที่จะมองข้ามหรือไม่สนใจข้อมูลที่ขัดแย้งกับข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อเดิมของตนเอง แทนที่จะปฏิเสธเพราะข้อมูลนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ การสร้างอคติเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเองนั้น ไม่ได้มีผลต่อเฉพาะการไม่ยอมรับวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเกิดขึ้นและคงอยู่ของข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย
ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาหนึ่งที่สามารถอธิบายการสร้างอคติเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเองได้คือ การปักใจเชื่อผลตรงกันข้าม (The Backfire effect) โดยการปักใจเชื่อผลตรงกันข้ามนี้ มีได้ 2 รูปแบบคือ 1. The familiarity backfire effect ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีแนวโน้มที่จะจดจำข้อมูล ทั้งๆที่ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ผิดมากกว่าจะจดจำว่าข้อมูลนั้นมีความไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับข้อมูลที่ผิดเหล่านั้น และ 2. The overkill backfire effect ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลไม่ยอมรับคำอธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์หรือข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มีความซับซ้อน และยากแก่การทำความเข้าใจ แต่เลือกที่จะยึดเอาคำอธิบายที่ผิดหรือคลาดเคลื่อน แต่เข้าใจได้ง่ายกว่าแทน (Ecker et al, 2019)
เมื่อเร็วๆนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (Malthouse, 2022) ที่ให้ข้อสรุปว่า การสร้างอคติเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ในการสื่อสารหรือให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน เนื่องจาก ความเชื่อที่อยู่ในจิตสำนึก (underlying beliefs) นั้น ทำให้เกิดการแปลความหมายของหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในทางที่ผิดได้
ที่มา
1) Ecker, U. K., Lewandowsky, S., Jayawardana, K., & Mladenovic, A. (2019). Refutations of equivocal claims: No evidence for an ironic effect of counterargument number. Journal of Applied Research in Memory and Cognition, 8(1), 98–107
2) Gorman, S. E., & Gorman, J. M. (2021). Confirmation Bias. Denying to the Grave, 125-C3.P99. https://doi.org/10.1093/oso/9780197547458.003.0004
3) Malthouse, E. (2022). Confirmation bias and vaccine-related beliefs in the time of COVID-19. Journal of Public Health. https://doi.org/10.1093/pubmed/fdac128
4) Nickerson, R. S. (1998). Confirmation bias: A ubiquitous phenomenon in many guises. Review of General Psychology, 2(2), 175–220. https://doi.org/10.1037/1089-2680.2.2.175
5) Swire, B., Ecker, U. K. H., & Lewandowsky, S. (2017). The role of familiarity in correcting inaccurate information. Journal of Experimental Psychology: Learning, Memory, and Cognition, 43(12), 1948–1961. https://doi.org/10.1037/xlm0000422