สาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลกได้แก่ น้ำ ลม ความโน้มถ่วงโลก และสิ่งมีชีวิต ซึ่งตัวการข้างต้นจะทำให้เกิดการผุพัง (weathering) (ภาพที่ 1.21) การกร่อน (erosion) (ภาพที่ 1.22) การพัดพา (transportation) และการสะสมตัว (deposition) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผิวโลกให้อยู่ในสภาพสมดุล การเปลี่ยนแปลงภูมิลักษณ์บนพื้นผิวโลกเกิดขึ้นได้หลายแบบและการเคลื่อนที่ของมวล
มีหลายลักษณะ เมื่อเกิดขึ้นจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิลักษณ์ เช่น

           แผ่นดินถล่ม (landslides) เป็นลักษณะของการเคลื่อนที่ของมวลในพื้นที่ลาดชันที่ภูเขา มักจะเกิดขึ้นในฤดูฝนในพื้นที่ภูเขา เมื่อเกิดแผ่นดินถล่มจะทำให้ภูเขาเปลี่ยนรูป กระแสน้ำจะกัดเซาะหินและดินบนภูเขาลงมาสู่ที่ราบ เกิดน้ำท่วมหลากที่สร้างความเสียหาย
ให้กับประชาชนบนพื้นราบและในขณะเดียวกันก็พัดพาเอาตะกอนลงมาสะสมในที่ราบเชิงเขาเป็นลักษณะของเนินตะกอนน้ำพารูปพัด (alluvial fan)

 

 


ภาพที่ 1.21 แสดงการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลกเนื่องจากการผุพังอยู่กับที่


          จากภาพที่ 1.21 หินที่มีรอยแตก เมื่อมีเมล็ดพืชซึ่งถูกลมพัดพามาตกเข้าไปในรอยแตก ร่วมกับมีฝนตกก็จะทำให้เมล็ดมีความชื้น และงอก ต่อมาเมื่อพืชโตขึ้น รากก็จะชอนไชทำให้หินแตกเพิ่ม และเร่งกระบวนการผุพังให้เกิดเร็วขึ้น (weathering)

 

 


ภาพที่ 1.22 แสดงการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลกเนื่องจากการกร่อน


          จากภาพที่ 1.22 น้ำฝนที่ตกลงมาจะทำปฏิกิริยากับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในอากาศได้กรดคาร์บอนิก ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการผุพังสลายตัวกลายเป็นเศษหินขนาดต่างๆ กัน และเกิดการะลายของกลุ่มหินคาร์บอเนตหลังจากนั้นตะกอนทั้งหมดจะเคลื่อนที่ลงมาตามแนวลาดชัน เกิดเป็นมวลชะล้าง  การเคลื่อนที่ของตะกอนขึ้นอยู่กับขนาดของมวล คือถ้ามวลมีมากจะเคลื่อนที่ช้า ถ้าน้อยการถูกพัดพา หรือ เคลื่อนที่ก็จะเร็วขึ้น และด้วยแรงน้ำที่มากก็จะค่อยๆ เกิดการกัดกร่อน ตะกอนไปสะสมตัวทับถมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่งเกิดเป็นภูมิลักษณ์รูปแบบอื่นต่อไป

          การผุพังและการกร่อนกับธรณีสัณฐาน การเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีภาคอย่างต่อเนื่องทำให้เปลือกโลกมีภูมิลักษณ์ที่ยกตัวสูงขึ้น เช่น เป็นภูเขาสูง รูปร่างของภูมิลักษณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีการเปลี่ยนแปลงต่อไปได้อีกจากการกระทำของลม คลื่น สายฝน สายน้ำ แสงแดด แรงโน้มถ่วงของโลก สิ่งมีชีวิต รวมทั้งจากธารน้ำแข็งในภูมิประเทศขั้วโลก เป็นต้น ผลจากการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนได้แก่ การผุพัง ซึ่งการผุพังนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ การผุพังทางกายภาพ และ การผุพังทางเคมี

 


ภาพที่ 1.23 ลักษณะของหินที่ลานหินงาม อ. เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ ที่เกิดจากอิทธิพลของ
การพัดพาของน้ำ และ ลมจนทำให้เกิดหินในรูปลักษณ์ต่างๆ กัน

 

 

การผุพังทางกายภาพ (physical weathering)


          การผุพังทางกายภาพ เป็นการผุพังที่เกิดขึ้นกับมวลหินแร่ในเชิงกล เช่น การแตกหักของหินที่เกิดจากการหด ขยายตัวเนื่องจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง การแตกหักด้วยแรงน้ำ คลื่นลม เป็นต้น


         ความร้อน และน้ำค้างแข็งเมื่อไปเกาะที่หินนานๆ หินก็จะผุพัง น้ำแข็งทำให้รอยแยกขยายเพิ่มขึ้นได้การผุพังทางกายภาพ เป็นการเปลี่ยนรูปร่างของหินที่ประกอบกันอยู่ในพื้นที่ หรือการที่หินแตกแยกออกแต่ยังคงอยู่กับที่ การผุพังทางกายภาพจึงเป็นการเปลี่ยนรูปร่างภายนอก ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับแรงกระทำที่มีทั้งการหดตัว และการขยายตัวของเนื้อหินจากสาเหตุต่างๆ แล้วทำให้หินนั้นแตกออก เช่น น้ำฝนที่แทรกซึมเข้าไปในเนื้อหินทำให้เกิดช่องว่างในเนื้อหินแล้วทำให้เกิดรอยแตกในเนื้อหิน หรือการแปรสัณฐานที่ทำให้หินเกิดเป็นรอยแตก รอยแยก (ภาพที่1.24 )

 


ภาพที่ 1.24 การเกิดรอยแยกของหินที่เกิดขึ้นภายหลังจากน้ำ
หรือความชื้นในหินแห้งระเหยไปหมดหรือเกือบหมด

 


          นอกจากนั้นการหดตัวของหิน / แร่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเนื่องมาจากอุณหภูมิในฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือกลางวัน กับกลางคืน ก็ทำให้หินที่เกิดในพื้นที่นั้นมีการแตกออก สิ่งมีชีวิต เช่น ต้นไม้ มีรากชอนไชเข้าไปตามชั้นหิน เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาก็ทำให้หินนั้นแตกออกก็จัดเป็นการผุพังทางกายภาพเช่นกัน (ภาพที่1.25)

 

 


ภาพที่ 1.25 ต้นไม้รากไม้สามารถขยายรอยแตก และรอยแยกในหินไดโอไรต์
บริเวณขามัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

 


          ผลจากการผุพังทางกายภาพเมื่อเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างๆ ณ ที่ใดที่หนึ่งแล้ว อาจจะทำให้พื้นผิวโลกบริเวณนั้นเปลี่ยนไปเกิดเป็นภูมิลักษณ์รูปแบบเฉพาะใหม่ขึ้นมา เช่น แพะเมืองผี จ.แพร่ ป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ ซึ่งเกิดจากการผุพังโดยน้ำโดยเฉพาะน้ำฝน น้ำไหล และลม (ภาพที่1.26)

 

 


ภาพที่ 1.26 แสดงให้เห็นภูมิลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของป่าหินงาม อันเนื่องจาก
การกัดกร่อนและผุพังทางกายภาพได้แก่ น้ำ และลม

 

 

- สาเหตุของการผุพังทางกายภาพเกิดจากอะไรได้บ้าง
- การผุพัง (weathering) และการกัดกร่อน (erosion) ต่างกันอย่างไร

 

 

การผุพังทางเคมี (chemical weathering)  


          น้ำเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การผุพังทางเคมี เป็นกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นในเนื้อหินแล้ว
ทำให้หินเปลี่ยนทั้งรูปทรงและส่วนประกอบของเนื้อหิน ชนิดของปฏิกิริยาการผุพังทางเคมีแบ่งออกได้ดังนี้


1. กระบวนการออกซิเดชัน - รีดักชัน
เป็นปฏิกิริยาที่มีการให้และรับอิเล็กตรอน ตัวอย่างเช่น

3Fe+2SiO3 + 1/2O2--------> Fe3O4 + 3SiO2
  ไพรอกซีน          ออกซิเจน              แมกนีไทต์    ควอซต์

2. ปฏิกิริยาไฮโดรลิซีส (hydrolysis) เป็นปฏิกิริยาที่มีน้ำเข้าร่วมทำปฏิกิริยา โดยจะมี H+ และ OH- เข้าไปแทนที่ไอออนในหิน ยกตัวอย่าง เช่น

4KAlSi3O8 + 4H+ + 2H2O --------> 4K+ + Al4Si4O10 (OH)8 + 8SiO2

3. ปฏิกิริยาชะล้าง (leaching) เป็นการเคลื่อนย้ายของไอออน ซึ่งจากตัวอย่างข้อ2 คือปฏิกิริยาไฮโดรลิซีส K+ ถูกชะล้างออกไป

4. การขับน้ำออกจากปฏิกิริยา (dehydration) เป็นการขับน้ำออกจากหินตัวอย่าง เช่น

2FeO:OH --------> Fe2O3 + H2O
     เกอไทต์                  ฮีมาไทต์        น้ำ

5. การละลายที่สมบูรณ์ (complete dissolution) ตัวอย่าง เช่น

CaCO3 +  H2CO3 --------> Ca2+   +    2(HCO3)-
 แคลไซต์     กรดคาร์บอนิก      แคลเซียมไอออน    ไบคาร์บอเนต

หินแต่ละชนิดเมื่อทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำแล้วจะได้แร่ชนิดใหม่เกิดขึ้นดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1 ตัวอย่างของชนิดหินที่ทำปฏิกิริยาเคมีแล้วได้แร่ใหม่เกิดขึ้น

 

ชนิดหิน
แร่เริ่มต้น
แร่ที่เกิดบนผิวโลก
ไอออนที่ถูกชะล้าง
แกรนิต

เฟลด์สปาร์
ไมกา
ควอซต์
แร่ Fe-Mg

แร่ดิน
แร่ดิน
ควอซต์
แร่ดินเหนียว, เฮมาไทต์, เกอไทต์

Na+, K+
K+
----
Mg2+

หินบะซอลต์
เฟลด์สปาร์
แร่ Fe-Mg

แมกนีไทต์
แร่ดิน
แร่ดิน
เฮมาไทต์, เกอไทต์
Na+, Ca2+
Mg2+
----
หินปูน
แคลไซต์
ไม่มี
Ca2+, CO32-

 

 

สาเหตุของการผุพังทางเคมีมีอะไรบ้าง

 


          

         กระบวนการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลกอีกทางหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงโดยทางน้ำ ซึ่งทางน้ำในที่นี้ หมายถึง น้ำที่ไหลมาตามลำน้ำทั้งหมด ทั้งแม่น้ำ ลำคลอง ลำห้วย เป็นต้น ภูมิลักษณ์บนผิวโลกส่วนหนึ่งกำเนิดมาจากการสะสมโดยทางน้ำหลายยุคหลายสมัยทางธรณีกาล พื้นที่เหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการผุพังและการกร่อน

           นักธรณีวิทยาพบว่า ทางน้ำทั้งหลายที่ไหลผ่านพื้นผิวโลกมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือระยะเริ่มต้น หรือ ยุคต้น (youth) ยุคกลาง (maturity) และ ยุคปลาย (old age) แต่ละช่วงอายุเหล่านี้จะให้ภูมิลักษณ์ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของหิน ระดับความสูงของพื้นที่ และฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา ทางน้ำพัฒนาขึ้นมาตามความลาดชันของพื้นที่ กระแสน้ำจะกัดเซาะหินที่ไหลผ่าน ถ้าบริเวณที่น้ำไหลผ่านมีระดับน้ำต่างกัน ก็จะเกิดเป็นน้ำตก ถ้าทางน้ำกัดเซาะชั้นหินที่ขวางทางน้ำในพื้นที่ค่อนข้างราบก็จะกลายเป็นแก่ง (rapids) และในชั้นหินที่เอียงเทน้อย มักจะเกิดหลุมกลมที่เรียกว่า กุมภลักษณ์ (potholes) (ภาพที่ 1.27) ซึ่งกุมภลักษณ์นั้นเกิดจากการกัดเซาะโดยกรวดที่พัดพามากับสายน้ำ และทางน้ำเมื่อผ่านพื้นที่ราบที่ชั้นหินอยู่ลึกและมีดินคลุม การกัดเซาะก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เกิดเป็นทางคดเคี้ยวมาก เรียกว่า ทางน้ำโค้งตวัด (meander stream) ทางน้ำลักษณะนี้จะมีการกัดเซาะน้อยลง ส่วนมากจะมีการสะสมตะกอนในช่วงน้ำหลาก เกิดเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain) และเมื่อระดับน้ำลด กระแสน้ำเปลี่ยน แนวการไหลตัดขาดจากทางน้ำเดิม ส่วนของทางเดิมที่ถูกละทิ้งไว้ก็จะเป็นทะเลสาบรูปแอก (oxbow lake) และรอยโค้งตวัด (meander scars) ซึ่งทางน้ำที่มีลักษณะโค้งตวัดแบบนี้จัดเป็นทางน้ำยุคปลาย

 

 


ภาพที่ 1.27 ลักษณะของกุมภลักษณ์ (pothole) บริเวณแหล่งตัดหินในภาพ อ.สีคิ้ว
ที่เกิดจากการพัดพาของตะกอนด้วยแรงน้ำมากทำให้กลายเป็นหลุมใหญ่เกิดขึ้น

 

 

มีคนกล่าวว่า “ลักษณะรูปร่างของแม่น้ำที่เป็นรูปตัว V และรูปตัว U” สามารถบ่งบอกอายุของแม่น้ำได้ คุณมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง


          การกัดกร่อนด้วยน้ำใต้ดิน ฝนที่ตกลงมาสู่ภูมิลักษณ์แบบต่างๆ จะซึมซาบลงไปในดิน บริเวณที่เป็นหินปูนที่มีภูมิลักษณ์แบบคาสต์ (karst landform) ซึ่งหินปูนละลายน้ำได้ง่าย น้ำบางส่วนที่ไหลซึมลงไปตามรอยแตก รอยแยกในหินปูน ทำให้ช่องว่าง/โพรงในหินปูนบริเวณนั้นขยายกว้างขึ้นและกระบวนการนี้เกิดขึ้นในหินปูนที่อยู่ใต้ดินด้วย

          การกัดเซาะด้วยน้ำส่วนมากจะเกิดอยู่ตามแนวระนาบชั้นหินปูน (bedding plane) และตามรอยแตก (joint) ที่ตัดแนวชั้นหินและอาจจะเกิดการกัดเซาะจากทางน้ำใต้ดินที่มีระดับน้ำเอ่อล้นอยู่นาน

          การกัดเซาะจากน้ำจะทำให้ปูนถูกชะล้างละลายออกไป ในที่สุดก็จะมีภูมิลักษณ์เป็นโพรงถ้ำ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ และระดับน้ำจะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งการลดลงของระดับน้ำจะทำให้เกิดการกัดเซาะในทางลึกลงไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นหินที่มีความทนทานสูง การกัดเซาะในหินปูนจะเกิดเป็นอุโมงค์ถ้ำยาวตามทางน้ำ และเมื่อทางน้ำเริ่มไหลไปกัดเซาะแนวอื่น พื้นที่ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะเดิมก็จะเป็นห้องโถงแห้งในถ้ำ ถ้าถ้ำถูกกัดเซาะภายในมากและขยายพื้นที่ออกจนทำให้เพดานถ้ำพังลงมา ทำให้เกิดเป็นหลุมลึกค่อนข้างกลมอยู่บนผิวเหนือเพดานถ้ำ (doline) บางครั้งก็เรียกว่า หลุมยุบ (sink hole) ถ้าหลุมนั้นถูกกัดเซาะด้วยน้ำที่ไหลเซาะลงไป ทำให้เกิดการพังทลายเป็นช่องตรงจากบนลงล่าง สารละลายแคลเซียมคาร์บอเนตในถ้ำที่ถูกน้ำใต้ดินแทรกซึมเข้าไป จะตกผลึกแร่แคลไซต์ใหม่ ณ ที่นั้นจากผนังถ้ำลงมา ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะค่อยๆ หายไปจากเดิมทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดอ่อน สามารถจับแร่
แคลไซต์ให้ตกผลึกลงมาเป็นหินย้อย (stalactites) และเมื่อน้ำนี้หยดถึงพื้นก็จะทำให้แคลไซต์สะสมพอกพูนขึ้นเป็นหินงอก (stalagmite)


         นอกจากนั้นแคลไซต์ยังมีการตกตะกอนจากทางน้ำใต้ดินที่ไหลผ่านไปตามพื้นในอดีต มีการพอกพูนขึ้นเป็นเหมือนตะพักและคั่นบันไดสวยงาม เช่น บริเวณน้ำตกเอราวัณในจังหวัดกาญจนบุรี ถ้ำในประเทศไทยมีมากมายในพื้นที่หินปูน มีทั้งถ้ำที่ยังคงมีทางน้ำใต้ดินไหลอยู่ภายใน และถ้ำลอดซึ่งทางน้ำในถ้ำไหลผ่านออกมาสู่พื้นที่ด้านนอก ถ้ำเป็นภูมิลักษณ์ที่อ่อนไหวมาก ต้องมีการอนุรักษ์ความชื้นในถ้ำเป็นพิเศษ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติของถ้ำให้ยั่งยืน