Blockchain คือ โครงสร้างข้อมูลที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด เป็นฐานข้อมูลที่มีการจัดการชุดข้อมูลที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการตรวจสอบความถูกต้องและความปลอดภัยซึ่งกันและกันตลอดชุดของข้อมูล
การใช้เทคโนโลยี Blockchain นั้นจะทำให้การทำธุรกิจออนไลน์ต่างๆ เป็นไปได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดย Blockchain จะเปรียบเสมือนการเก็บข้อมูลแบบหนึ่งที่งสามารถแชร์ไปยังทุกๆ คนได้เป็นห่วงโซ่ หรือ Chain โดยที่ทราบได้ว่าใครเป็นเจ้าของของข้อมูลนั้นๆ ดังนั้นเมื่อข้อมูลถูกบันทึกไว้ใน Blockchain จะไม่สามารถถูกลบออกไปได้ และสามารถติดตามลำดับการบันทึกข้อมูลย้อนหลังทั้งหมดได้อย่างโปร่งใส ข้อมูลภายใน Blockchain นี้จะถูกกระจายไปจัดเก็บบน Hardware หลายๆ เครื่องซึ่งเราจะเรียก Hardware แต่ละชุดนี้ว่า Node โดยจะมีการรับประกันว่าข้อมูลเหล่านั้นจะเหมือนกันทั้งหมด ซึ่ง Node เหล่านี้จะเก็บเอาไว้ในองค์กรเดียวกัน หรือกระจายช่วยกันเก็บในหลายองค์กรก็ได้เช่นกัน และการบันทึกข้อมูลใดๆ ลงไปใน Blockchain นั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบและยืนยันจาก Node อื่นๆ ตามเงื่อนไขการตรวจสอบที่กำหนดและรองรับการเข้ารหัสสำหรับข้อมูลแต่ละชุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Blockchain เป็นระบบที่มีความปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือสูงและมีความโปร่งใส ซึ่งการนำ Blockchain ไปใช้งานนั้นต้องมีการพัฒนา Application ขึ้นมาทำงานร่วมกับ Blockchain อีกทีหนึ่ง เพื่อทำการจัดเก็บข้อมูลที่เราต้องการให้มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือในระบบของ Blockchain และเปิดให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลภายใน Blockchain หรือบันทึกข้อมูลลงไปยังระบบของ Blockchain ได้อย่างง่ายดาย
สำหรับตัวอย่างโครงสร้างข้อมูลแบบ Blockchain เราอาจจะนึกแบบเรียน หรือหนังสืออะไรก็ได้ที่มีเลขหน้า หนังสือนี่แหละคือตัวอย่างโครงสร้างข้อมูลแบบ Blockchain แต่ละหน้าก็มีข้อมูลของตัวเองเป็น Block ส่วนเลขหน้าทำให้เรารู้ว่าหน้าก่อนหน้าคือหน้าอะไร หน้าถัดไปคือหน้าอะไร เชื่อมต่อกันเป็นสาย (chain)
Blockchain ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ใช้ทดแทนตัวกลางในการทำธุรกรรมหรือสัญญาใดๆ นอกจากนี้สามารถนำไปประยุกต์กับระบบอื่นๆ ได้ เช่นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง, ระบบบันทึกประวัติทางการแพทย์, ระบบจัดเก็บกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่างๆ เช่น ทะเบียนรถ, โฉนดที่ดิน, หุ้น, ใช้ในการติดตามสินค้าต่างๆ เช่น ติดตามเส้นทางการขนส่งอาหารทำให้ทราบได้ทันทีว่าวัตถุดิบรายการไหนถูกส่งออกมาจากแหล่งใด, ขายไปยังลูกค้าคนใด, หมดอายุวันไหน รวมถึงหากเกิดปัญหากับสินค้าชิ้นนั้นๆ ก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันที เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Blockchain ในการบันทึกข้อมูลที่ต้องการสำรองเอาไว้ได้ด้วย
ที่มา :
https://www.techtalkthai.com/introduction-to-blockchain-for-everyone-in-5-minutes/
เรื่องโดย อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล