Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

Hackathon คืออะไร

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
3,336 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 7 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

Hackathon มาจากคำว่า Hack รวมกับคำว่า Marathon โดยที่คำว่า Hack ก็คือ Hacker ซึ่งในที่นี้ หมายถึงบุคคลที่ชอบคิดใหม่ ทำใหม่ ส่วน Marathon ก็คือการวิ่งระยะยาว แต่ในที่นี้เราหมายถึงการทำกิจกรรมใดซักกิจกรรมหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆค่ะ เลยทำให้คำว่า Hackathon คือการรวมหัว...เอ๊ย ระดมความคิดของคนที่ชอบคิดใหม่ ทำใหม่ โดยที่มานั่งระดมสมองช่วยกันคิด ช่วยกันผลิตผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา โดยใช้เวลาทำแบบต่อเนื่องชนิดที่ว่าข้ามวันข้ามคืน มีทั้ง 12 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง หรือเลยเถิดอยู่กันไปยาวนานจน 48 ชั่วโมงเลยก็มีค่ะ และนอกจากมีการระดมสมองต่อเนื่องกันเป็นเวลานานแล้ว Hackathon ก็จะมีการแข่งขันกันระหว่างผู้สมัครทีมต่างๆ โดยจะต้องมีตัวแทนของแต่ละทีมออกมานำเสนอไอเดียหรือที่เรียกว่า pitch ไอเดีย โดยผู้ที่เป็นกรรมการตัดสินว่าทีมใดจะได้รางวัลก็คือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับโจทย์ของการทำ Hackathon นั้นๆและ/หรือเป็นนักลงทุน ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการที่ต้องการจะซื้อไอเดียของผู้เข้าแข่งขัน Hackathon ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายสู่ตลาดต่อไป  และในระหว่างการ Hack นั้น แต่ละทีมที่เข้าแข่งขันก็มีโอกาสที่จะได้รับคำแนะนำจาก Mentor หรือทีมพี่เลี้ยงซึ่งมีประสบการณ์ในการทำ Startup เพื่อทำการปรับปรุง เพิ่มเติมหรือแก้ไขผลงานของทีมตนเองเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงอีกด้วย

ใครคือ Hacker ได้บ้าง

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า Hackers are doers ซึ่ง Doers ในที่นี้ หมายถึงทั้งคนที่ know and do หรือคนที่รู้แล้วลงมือทำ และ do not know but do หรือคนที่ไม่รู้แต่ก็ลงมือทำ ซึ่งจะเห็นได้ว่า คนสองประเภทนี้ มีหนึ่งอย่างที่เหมือนกันคือการลงมือทำ เพราะฉะนั้น Hacker ก็คือใครก็ได้ที่ลงมือทำ ไม่ว่าเค้าผู้นั้นจะมีหรือไม่มีความรู้เรื่องที่เค้าจะลงมือทำหรือไม่ก็ตาม

โจทย์ของ Hackathon สามารถเป็นอะไรได้บ้าง

ในปัจจุบัน การจัด Hackathon นั้น กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก อย่างเช่น Elon Musk (ชื่อนี้คุ้นๆหรือไม่คะ?? ใช่ค่ะ Elon Musk ผู้ที่มาเยือนถ้ำหลวง จังหวัดเชียงรายนั่นแหละค่ะ) ซีอีโอของ Tesla ก็ได้ประกาศใน Twitter ว่าจะจัด Hackathon เพื่อระดมสมองในการหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสายการผลิตรถยนต์ Tesla Model 3  หรือแม้กระทั่ง รัฐวาติกัน...ทุกคนอ่านไม่ผิดค่ะ...นครรัฐวาติกัน ก็ได้จัด VHacks หรือ Hackathon ที่มีโจทย์คือการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะอุปสรรคทางสังคม ซึ่งแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ การรวมตัวกันทางสังคม ความหลากหลายทางเชื่อชาติ ศาสนา และการช่วยเหลือผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย โดยผู้ที่เข้าร่วม VHacks นั้นเป็นนักเรียนนักศึกษาประมาณ 120 คน และก็ยังมีให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางภูมิหลังของผู้เข้าร่วมแข่งขันด้วยค่ะ

จะเห็นได้ว่าการจัด Hackathon มิได้มีวัตถุประสงค์จำกัดอยู่แค่การระดมสมองพัฒนานวัตกรรมที่แก้ปัญหาเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็น event ที่ระดมสมองในการแก้ปัญหาเชิงสังคมได้อีกด้วย  

แล้วในประเทศไทยมีการทำ Hackathon อะไรบ้าง

สำหรับในประเทศไทยนั้น ก็ได้มีการจัด Hackathon อยู่หลายครั้ง และโจทย์ของแต่ละงานก็จะมีความแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น งาน Emergency Disaster Mitigation Hackathon ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน อาทิ สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ  The Asia Foundation เว็บไซต์ Data.go.th และ Social Technology Institute ฯลฯ ได้เชิญชวน web/mobile application developer มาเข้าร่วม hackathon เพื่อแข่งขันกันสร้าง application ที่ใช้ open data จากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือ บริษัท Line ประเทศไทย ก็ได้จัดงาน Hackathon ที่มีชื่อว่า LINE Hack Thailand 2016 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันกันสร้างบริการใหม่ๆ ภายใต้ Business Connection API ของ LINE  หรือแม้แต่ในวงการการศึกษาในประเทศไทย ก็ได้มีการจัด Hackathon เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่องานว่า Education Disruption Hackathon 2018 เพื่อหา Edtech Startup ที่จะมาสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาบ้านเรา ซึ่งในงานนี้ มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบถึง 29 ทีมเลยทีเดียว จึงนับได้ว่า Education Disruption Hackathon 2018 เป็นอีกหนึ่ง event ที่เป็นที่สนใจของคนในแวดวงการศึกษาหรือผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศไทยเลยทีเดียว

 

ที่มา

 

เรื่องโดย ดร.พัชรพรรณ ศิริวัฒน์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,421,924 views since 16 August 2018