หนังสือถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเช่นไร หนังสือก็ยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวในหลากหลายศาสตร์อย่างต่อเนื่องเสมอมา ทว่า การจัดทำหนังสือเพื่อการตีพิมพ์ ควรต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แม้ว่า หนังสือจะมีหลากหลายประเภท มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งจัดพิมพ์เป็นตัวเล่มหรือถูกจัดทำเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่สิ่งที่เป็นองค์ประกอบของหนังสือและการเรียงลำดับจะมีคล้ายคลึงกัน ถ้าท่านอยากเขียนหนังสือควรจะต้องมีองค์ประกอบและหัวข้อสำคัญที่พลาดไม่ได้ ดังนี้
- ปกหนังสือ (Front Cover) ประกอบด้วย ชื่อเรื่องหนังสือ, ชื่อผู้แต่ง, ครั้งที่พิมพ์, ปีที่พิมพ์, สำนักพิมพ์ เป็นต้น
- สันหนังสือ (Spine) โดยส่วนใหญ่จะพิมพ์แสดงชื่อหนังสือและชื่อผู้แต่ง
- ใบรองปกหน้า (Flyleaf) คือ กระดาษเปล่าที่อยู่ถัดจากปกหน้าและปกหลัง ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับปกหนังสือ
- ปกใน (Title Page) แสดงรายละเอียดของบรรณานุกรมของหนังสือครบถ้วนที่สุด ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง, ชื่อหนังสือ, ครั้งที่พิมพ์, สถานที่พิมพ์, สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์
- หน้าลิขสิทธิ์ (Copyright Page) อยู่หลังปกใน มีรายละเอียดสำคัญของหนังสือ ประกอบด้วย ข้อความสงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ , ข้อมูลบรรณานุกรมหนังสือ , เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN)
- คำนิยม (Forword) เป็นคำแนะนำหนังสือจากผู้เขียนบุคคลอื่นที่มีชื่อเสียงในวงการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ (Credibility) ให้กับหนังสือเราได้
- กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) เป็นการเขียนกล่าวแสดงความขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือในการเขียนหนังสือจนประสบผลสำเร็จ
- คำนำ (Preface) เป็นส่วนอธิบายถึงวัตถุประสงค์ ความเป็นมาของหนังสือ (และตอนท้ายอาจกล่าวคำขอบคุณถึงผู้ที่มีส่วนช่วยด้านต่าง ๆ ของหนังสือเล่มนั้นได้ด้วย)
- บทนำ (Introduction) เป็นเกริ่นนำเรื่องราวเพื่อชวนให้ผู้อ่านอยากติดตามเนื้อเรื่องในหนังสือต่อไป
- สารบัญ (Table of Content) มีการเรียบเรียงสารบัญ ให้สามารถค้นหาบทที่จะอ่านได้
- สารบัญภาพ (List of Figures) และ สารบัญตาราง (List of Tables) เพื่อให้สามารถค้นหารูปภาพและตารางในหนังสือได้ครบถ้วนอย่างเป็นลำดับ
- ส่วนของเนื้อหา (Contents) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของหนังสือโดยจะเรียบเรียงหนังสือให้เนื้อหาแยกออกเป็นบท ๆ ทั้งนี้ อาจมีเชิงอรรถ (Footnotes) ที่บางหน้าของเนื้อหา ซึ่งเชิงอรรถจะเป็นข้อความที่บอกแหล่งที่มาของเนื้อเรื่องซึ่งมักจะปรากฏอยู่ที่ท้ายหน้ากระดาษ
- ภาคผนวก (Appendix) คือ ส่วนที่อธิบายเพิ่มเติมจากเนื้อเรื่องหลัก
- อภิธานศัพท์ (Glossary) คือ ส่วนอธิบายความหมายของคำศัพท์ในเนื้อเรื่อง
- บรรณานุกรม (Bibliography) คือส่วนรายละเอียดทางบรรณานุกรมของเอกสารต่าง ๆ ที่ประกอบการเรียบเรียงหนังสือนั้น ๆ ตามลำดับตัวอักษร
- ดัชนี (Index) หรือ ดรรชนี หรือ บัญชีค้นคำ เป็นการนำหัวข้อย่อยหรือคำสำคัญที่ปรากฏในเนื้อเรื่องมาจัดเรียงตามลำดับของตัวอักษร
- ชีวประวัติ (Author Biography) เป็นรายละเอียดและประสบการการณ์ของตัวผู้เขียนหนังสือ
- ปกหลัง (Back Cover) ส่วนใหญ่มักเขียนบรรยายบทสรุปย่อ (Synopsis) เพื่อให้ทราบเนื้อหาและดึงดูดผู้อ่าน
องค์ประกอบข้างต้นถือเป็นองค์ประกอบสำคัญโดยหลักที่หนังสือทุกเล่มควรมีเป็นพื้นฐาน แต่ลำดับการจัดวางขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เขียนหรือขึ้นอยู่กับรูปแบบ (Format) ของทางสำนักพิมพ์ (Publisher) การที่หนังสือมีองค์ประกอบและมีการจัดลำดับอย่างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ถึงคุณภาพหนังสือที่ได้รับใส่ใจในรายละเอียด มีคุณภาพสำหรับผู้อ่าน รวมถึงเป็นส่วนสำคัญที่ผู้ค้าและผู้ให้บริการด้านห้องสมุดใช้ข้อมูลในส่วนนี้ในการจัดการได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง (References)
- เว็บไซต์ https://www.nupress.grad.nu.ac.th/ องค์ประกอบหนังสือ
- เว็บไซต์ https://bookplus.co.th/ ส่วนประกอบของหนังสือ-เร/
- เว็บไซต์ http://www.sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/650?attempt=2&
- เว็บไซต์ https://www.selfpublishersbookplan.com/blog/book-structure-and-composition
- เว็บไซต์ https://self-publishingschool.com/parts-of-a-book/
- เว็บไซต์ https://www.emeraldgrouppublishing.com/publish-with-us/publish-a-book-or-series/prepare-your-book-manuscript
- เว็บไซต์ https://storables.com/interior-design/