แปลจากสาระสังเขปของ Walters, W. H., Gormley, J., Handfield, A. E., Lopez-Fitzsimmons, B. M., Markgren, S., Paradise, L., & Sheehan, S. E. (2020). Library book selection decisions and selectors' effectiveness: Differences among librarians, faculty, and students. College & Research Libraries, 81, 617-645. https://doi.org/10.5860/crl.81.4.617
การศึกษานี้ตรวจสอบการเลือกหนังสือของบรรณารักษ์ อาจารย์ และนักศึกษา Manhattan College จำนวน 22 คนที่ตอบ เลือก หรือ ไม่เลือก สำหรับหนังสือ 287 เล่มที่มีบทวิจารณ์ใน CHOICE โดยเน้นคำถามวิจัย 4 ข้อ 1) หนังสือที่เลือกกับหนังสือที่ไม่เลือกมีลักษณะอย่างไร ถึงแม้จะมีความเห็นพ้องกันเพียงเล็กน้อยในหมู่ผู้เลือก การตัดสินใจว่าเลือกมีความสัมพันธ์กับบทวิจารณ์เชิงบวก ความเหมาะสมกับนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีต้น ๆ ราคาที่สมเหตุสมผล การจัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลัย และการไม่มีข้อควรระวังในบทวิจารณ์ ผลการศึกษาชี้ว่าผู้เลือกจะผ่อนผันเกณฑ์การคัดเลือกบางข้อหากข้ออื่นสูงกว่าเกณฑ์ ทัศนคติที่ดีโดยทั่วไปในหมู่ผู้เลือกต่องานสหสาขาวิชามิได้ครอบคลุมหนังสือลักษณะนั้นทุกเล่ม และหนังสือในสาขาที่ผู้เลือกไม่คุ้นเคยมักจะไม่ถูกเลือก 2) อะไรคือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการเลือกหนังสือของบรรณารักษ์ อาจารย์ และนักศึกษาปริญญาตรี ถึงแม้จะมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยระหว่างกลุ่ม ข้อค้นพบหลักคือการเลือกของนักศึกษาค่อนข้างทำนายไม่ได้และไม่ค่อยขึ้นกับลักษณะของหนังสือและบทวิจารณ์ 3) อะไรคือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการเลือกหนังสือของผู้ชำนาญการ (อาจารย์และบรรณารักษ์) ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ถึงแม้ว่าทั้ง 3 กลุ่มคล้ายกันในการตัดสินใจและลักษณะของหนังสือที่เลือก ผู้เลือกส่วนใหญ่มีความเอนเอียงสูงที่จะเลือกหนังสือในสาขาวิชาของตนเอง 4) ลักษณะของคนแบบไหนที่สัมพันธ์กับประสิทธิผลในฐานะผู้เลือกหนังสือ โดยรวมแล้วบรรณารักษ์และอาจารย์มีประสิทธิผลพอ ๆ กัน อาจารย์มีความได้เปรียบในหมู่ผู้เลือกที่ไม่มีประสบการณ์การเลือกหนังสือ แต่ผลเชิงบวกของประสบการณ์มาจากบรรณารักษ์มากกว่า ในทางตรงกันข้าม นักศึกษาค่อนข้างเป็นผู้เลือกที่ไม่มีประสิทธิผลและการเลือกของพวกเขาก็ไม่สัมพันธ์กับนักศึกษาคนอื่น อาจารย์ หรือบรรณารักษ์