Forum

การพิจารณาหนังสือเพ...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

การพิจารณาหนังสือเพื่อจำหน่ายออกของห้องสมุด (De-selection หรือ Weeding)

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
426 เข้าชม
(@natthasit-n)
Eminent Member
เข้าร่วม: 1 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 12
หัวข้อเริ่มต้น  

การพิจารณาหนังสือเพื่อจำหน่ายออกของห้องสมุด (De-selection หรือ Weeding)
การคัดออก/การจำหน่ายออก (De-selection หรือ Weeding) เป็นกระบวนการคัดเลือกทรัพยากรออกจากห้องสมุดโดยอาจนำไปเก็บในชั้นปิด (Closed Stack) บริจาค แลกเปลี่ยนต่างห้องสมุด หรือนำไปทำลาย ซึ่งการจำหน่ายออกต้องอาศัยหลักเกณฑ์การประเมินคุณค่าทรัพยากรสารสนเทศหรือยึดตามนโยบายของห้องสมุด ทำให้ห้องสมุดมีทรัพยากรที่พร้อมต่อการให้บริการแก่ผู้ใช้ ทรัพยากรห้องสมุดที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งในการตอบสนองต่อนโยบายและเป็นกลไกส่งเสริมการขับเคลื่อนพันธกิจองค์กร โดยมีเกณฑ์พิจารณา ดังนี้

1. การใช้ประโยชน์คุ้มค่าเพียงใด โดยดูจากสถิติการให้บริการยืม-คืน และจำหน่ายออกถ้าไม่มีการใช้งานในช่วงเวลา 5 - 10 ปี (Under-circulated) ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นในกรณีที่หนังสือนั้นยังคงมีคุณค่าแก่การเก็บรักษา ถึงแม้จะมีการใช้งานน้อยก็ตาม เช่น หนังสือที่เป็นองค์ความรู้หรือทฤษฎีรากฐาน พจนานุกรม นามานุกรม ประวัติบุคคลสำคัญ หรือหนังสืออ้างอิงต่าง ๆ ให้รักษาไว้ในห้องสมุดและให้บริการตามเดิมได้

2. สภาพของทรัพยากร (Suitability of physical condition for library use) พิจารณาสภาพหนังสือ (inspection) และจำหน่ายออกเมื่อมีลักษณะที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ดังนี้

  • หนังสือตัวเล่มเก่า ฉีกขาด ชำรุด (Wear and Tear)
  • การเสื่อมของเซลลูโลสของกระดาษและกระดาษเปราะ (Cellulose Degradation and Paper Embrittlement)
  • ขึ้นราหรือมีสปอร์ของเชื้อรา (Moldy)
  • ถูกสัตว์กัดแทะ (Infested)
  • สันชำรุด (Poor binding)
  • หงิกงอและม้วนงอ (Bending & Curling)
  • บวมน้ำ เปียกน้ำ หรือได้รับความเสียหายจากความชื้น (Water-damaged)
  • กระดาษมีจุดสีเหลืองหรือน้ำตาล (Paper Foxing) สาเหตุเกิดจากความชื้นสูงหรือเกิดจากโลหะหนักที่หลงเหลืออยู่จากกระบวนการผลิตกระดาษ

3. ด้านเนื้อหา จำหน่ายออกเมื่อมีลักษณะดังนี้

  • เนื้อหาล้าสมัย (Obsolete / Out-of-Date) หรือตำราที่มีอายุมากกว่า 10 ปี เช่น หนังสือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีการใช้งานแล้วในปัจจุบัน
  • เนื้อหาไม่ถูกต้อง (Inaccurate information)
  • เป็นฉบับพิมพ์เก่า ซึ่งปัจจุบันมีฉบับพิมพ์ที่ใหม่มีเนื้อหาที่เป็นปัจจุบันมากกว่า (Superseded editions)
  • แนวคิดมุมมองล้าสมัยหรือชี้นำในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม (Misleading) เช่น มุมมองเรื่องเพศ ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม การเหยียดเชื้อชาติ (Racial / Cultural / Sexual stereotyping)
  • สิ่งที่มีอายุสั้นและไม่ค่อยมีความสำคัญ (Ephemera) เช่น หนังสือพิมพ์

 

4. มีจำนวนฉบับซ้ำที่เกินความจำเป็น (Unnecessary duplication)

5. ต้องการพื้นที่ห้องสมุด (Space considerations) เนื่องด้วยห้องสมุดต้องมีพื้นที่ในการรองรับทรัพยากรใหม่ หรือมีการจัดสรรพื้นที่ให้บริการให้สอดคล้องกับกิจกรรมของทางห้องสมุด ประเด็นเรื่องพื้นที่จึงเป็นหนึ่งในประเด็นพิจารณาจำหน่ายออกสำหรับห้องสมุดบางแห่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรที่เสนอแนะให้ยังคงเก็บรักษาไว้ (Recommended for Retention) เช่นในกรณี ดังนี้
1. เป็นหนังสือเก่าแก่หายาก (Rare books)
2. เป็นหนังสือที่ผู้คนในพื้นที่ยังคงให้ความสนใจ (Items of local or regional interest)

ทั้งนี้ การพิจารณาหนังสือเพื่อจำหน่ายออกต้องอาศัยบุคลากรที่มีทราบข้อมูลหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนของคณะหรือสถาบันนั้น ๆ รวมถึงควรทราบประวัติความเป็นมาของบุคคล สถานที่ และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคณะ/สถาบัน/มหาวิทยาลัย เพื่อให้การพิจารณาคัดทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้และสอดคล้องกับสถานที่ หรือในกรณีของห้องสมุดขนาดเล็ก การพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ “สถิติการยืม-คืน” หรือ “จำนวนครั้งที่ถูกใช้” อาจไม่เหมาะสมนัก ต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบเข้าด้วยกัน

 

แหล่งอ้างอิง:


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,389,071 views since 16 August 2018