หนึ่งในพฤติกรรมของอัจฉริยะ คือ การรู้ว่าสิ่งใดที่เขายังไม่รู้ และลงมือเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างลึกซึ้ง จากไม่รู้ก็กลายเป็นรู้ โอกาสในการเรียนรู้เปิดขึ้นเมื่อเรามีความตระหนักว่าเรื่องนี้เรายังไม่รู้ ความกลัวคนอื่นจะว่าเราไม่รู้จึงแสดงออกว่ารู้นั้น เป็นการปิดประตูในการรู้สิ่งที่ตนเองยังไม่รู้
เปลือกจะสร้างอาการคิดว่าตนเองรู้ ครู พ่อแม่ ผู้ใหญ่ คนทั่วไป ที่มีโอกาสในการให้ความรู้แก่ใครก็ตาม ควรปลูกฝังความรู้สึกว่า “ไม่รู้” ไม่ใช่เรื่องผิด เราสามารถเรียนรู้สิ่งที่ไม่รู้ได้ตลอดเวลา การตำหนิผู้ที่รู้น้อยกว่าเป็นการสร้างบาดแผลในใจให้กับเขาคนนั้น แทนการสร้างความกล้าหาญในการยอมรับความจริงว่า “ไม่รู้”
เมื่อรู้ว่าไม่รู้ แล้วได้เรียนรู้ ก็จะกลายเป็นรู้ ในทางกลับกัน หากคิดว่ารู้ (แต่จริง ๆ ไม่รู้) จึงไม่เรียนรู้อะไรเพิ่ม คุณก็จะเป็นผู้ไม่รู้อยู่อย่างนั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาเปลี่ยนไปความรู้ไม่ได้มีเท่าเดิม เราเรียนรู้เรื่องหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว วันนี้ ความรู้ในเรื่องนั้นจะยังคงเหมือนเดิมหรือไม่เมื่อระยะเวลาเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น เคยรู้อาจกลายเป็นไม่รู้อีกก็ยังได้ เปิดใจให้กว้าง เคลียร์ภาชนะรับความรู้ไว้เพื่อรับความรู้เพิ่ม เหมือนเด็ก ๆ ที่เห็นอะไรก็สนใจ ใส่ใจพิจารณา มีความสดใส และสนุกไปกับความเปลี่ยนแปลง เปิดรับอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ ความสุขในการเรียนรู้เกิดขึ้นตรงนี้แหละ
เรื่องโดย จิราพร ธารแผ้ว นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล