การทำสื่อการเรียนรู้ มักจะหลีกเลี่ยงการใช้ภาพไม่ได้ เพราะภาพประกอบช่วยให้เนื้อหามีความน่าสนใจมากกว่าการใช้ข้อความเพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายคนโดยเฉพาะตัวเราเอง มักจะ search ภาพจาก Google มาใช้ เพราะใช้งานง่าย สะดวก และมีรูปภาพให้เลือกมากมาย แต่เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องลิขสิทธิ์ จึงเป็นประเด็นที่เราต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการละเมิดลิขสิทธิ์
เมื่อพิมพ์คำสำหรับค้นหารูปภาพใน Google แล้ว จะมีเมนูย่อยปรากฎขึ้นอยู่ถัดจากกล่องสืบค้นลงมา ให้คลิกเลือกคำสั่ง Tools จะมีเมนูย่อยปรากฏขึ้นอีกแถว ให้คลิกเลือกที่ Usage right แล้วจะมีเมนูย่อยให้เลือกอีกครั้ง ประกอบด้วย Creative commons licenses และ Commercial & other licenses แนะนำให้เลือก Creative commons licenses เพื่อคัดกรองเอามาเฉพาะภาพที่เจ้าของผลงานได้อนุญาตเอาไว้
Creative commons licenses จะแทนสัญญาการอนุญาต โดยเจ้าของผลงานอนุญาตให้ใช้รูปภาพได้โดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามการใช้รูปที่เป็น Creative common licenses ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปใช้อย่างไรก็ได้ ทั้งนี้จำเป็นต้องต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้บนผลงาน ซึ่งเท่าที่เคยเจอจะมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้งานโดยใช้สัญลักษณ์ 4 แบบ ดังนี้
Attribution CC – BY หมายถึง อนุญาตให้ใช้ ทำซ้ำ แจกจ่าย หรือดัดแปลงได้ แต่ต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานนั้นโดยการระบุที่มา
Attribution CC – BY – NC หมายถึง อนุญาตให้ใช้ ทำซ้ำ แจกจ่าย หรือดัดแปลงได้ แต่ต้องไม่ใช่เพื่อการค้า
Attribution CC – BY – ND หมายถึง อนุญาตให้ใช้ ทำซ้ำ แจกจ่าย แต่ต้องห้ามดัดแปลง
Attribution CC – BY – SA หมายถึง อนุญาตให้ใช้ ทำซ้ำ แจกจ่าย หรือดัดแปลงได้ แต่ผลงานที่ดัดแปลงนั้นจะต้องกำกับด้วยสัญญาอนุญาตเงื่อนไขเดียวกันกับต้นฉบับ
……….
ทั้งนี้ ยังมีภาพจำนวนมากที่ไม่ได้ระบุขอบเขตการใช้งานไว้ ก็มิได้หมายความว่าเราจะนำมาใช้ได้อย่างเสรี หากเรานำมาใช้ ก็ควรจะให้เครดิตหรือระบุที่มาของภาพให้ชัดเจน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเรามิได้สมอ้างให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าภาพนั้นมาเป็นของเรา