Paraphrase หรือการถอดความ เป็นการเปลี่ยนแปลงประโยคข้อความหรือภาษาพูดให้เป็นภาษาของผู้เขียนเองในรูปแบบใหม่ แต่ยังคงมีใจความสำคัญเช่นเดียวกับต้นฉบับ ทว่าปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือ AI หรือแอปพลิเคชันในการช่วยนักเรียน นักศึกษา หรือนักวิจัยในการช่วยถอดความ
การ Paraphrase ที่ไม่เหมาะสมและเข้าข่ายการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Improper paraphrasing)
- การนำข้อความต้นฉบับมาเปลี่ยนแปลงแค่บางคำ เปลี่ยนคำโดยใช้ synonym หรือตัดคำออกบางส่วน (เรียกว่า Patchwriting) กรณีนี้ถือว่าคัดลอกผลงาน (ไม่ว่าจะใส่อ้างอิงหรือไม่ก็ตาม) เป็นการยกประโยคข้อความจากงานผู้อื่นมา แล้วแก้แค่บางคำ ถือเป็น Plagiarism ซึ่งการ Paraphrase ต้องทำความเข้าใจกับเนื้อความนั้นก่อน จากนั้นเขียนขึ้นใหม่เป็นภาษาตนเองให้มีใจความสำคัญเดียวกัน (ไม่ใช่สร้างเนื้อความใหม่ ใจความสำคัญที่คลาดเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จัดว่าเป็นการถอดความที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน)
- ถ้าผู้เขียนต้องการใช้ข้อความทั้งหมดหรือยกคำในงานเขียนผู้อื่นมาใช้แบบไม่ผ่านการแก้ไข ต้องใช้วิธีการอ้างอิงโดยตรง Direct Quoting “ … ” ที่คัดลอกข้อความทั้งหมดของงานเขียนผู้อื่นมาใส่ในงานของเรา อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงแบบ Direct Quoting ผู้เขียนต้องพิจารณาความเหมาะสมให้ดี ควรใช้เท่าที่จำเป็น มีเหตุผลของการใช้ ไม่ใช้มากเกินไปในหนึ่งงานเขียน และต้องมีการใส่อ้างอิงตามรูปแบบที่เลือกอย่างถูกต้องด้วย (APA MLA Chicago)
- การ Paraphrase ไม่ใช่การสร้าง Idea ใหม่ แต่เป็นการนำแก่นสาระและใจความสำคัญของผู้อื่นมาใช้ในงานเขียนของตนเอง
ปัญหาที่พบบ่อยในการที่ทำให้ถอดความได้ไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพ (Struggle with Paraphrasing)
- ผู้เขียนไม่เข้าใจใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านอยู่ ทำให้ไม่สามารถสรุปและถอดความเป็นภาษาของตนเองได้
- ข้อจำกัดด้านคำศัพท์และภาษา หากผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจด้านคำศัพท์ที่จำกัด อาจทำให้ผู้เขียนไม่สามารถถ่ายทอดใจความสำคัญลงไปในงานเขียนหรือข้อความที่ถอดความได้ตรงกับงานต้นฉบับ หรืออาจเป็นงานเขียนที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของผู้อ่าน ทำให้การถอดความอาจคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับได้
- กลัวการกระทำที่เข้าข่ายคัดลอกผลงาน เช่น ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงรูปประโยค กลัวว่าจะเป็นการ Plagiarism ทำให้ไม่กล้าสร้างประโยคของตนเองขึ้นใหม่ แต่พยายามคงรูปประโยคและใช้ข้อความคล้ายต้นฉบับ (ซึ่งแบบนี้ถือเป็นการ Plagiarism แน่นอน)
- ทักษะการเขียนและประสบการณ์ในการประพันธ์งานเขียน การเรียบเรียงข้อความใหม่ต้องใช้ทักษะการเขียนขั้นสูง และต้องอาศัยความสามารถในการสร้างประโยคและใช้โครงสร้างประโยคที่หลากหลายแต่มีใจความเหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์เฉพาะบุคคล
- ไม่เคยทำหรือขาดการฝึกฝน การเรียบเรียงข้อความใหม่เป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน ทั้งนี้ อาจเริ่มจากการอ่านงานเขียนและการอ้างอิงในงานของผู้อื่นและติดตามแหล่งข้อมูลที่เป็น Original sources อาจช่วยให้เข้าใจกับการเขียนแบบ Paraphrase ได้มากขึ้น
- พื้นฐานทางปัญญาที่แตกต่างกัน การสรุปความแลดูเหมือนจะทำได้ง่าย แต่ความจริงแล้ว Paraphrase ต้องอาศัยความรู้ กระบวนการทางปัญญาหลายอย่าง (Multiple cognitive processes) เช่น การอ่านเพื่อทำความเข้าใจ (Reading comprehension) การคิดวิเคราะห์ (Critical thinking) และทักษะการเขียน ซึ่งผู้เริ่มต้นในการเขียนงานอาจต้องฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์ผ่านการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนากระบวรการทางปัญญาเหล่านี้ให้สูงขึ้น
การ Paraphrase ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพในการเขียนงานวิชาการ
- ทำความเข้าใจกับเนื้อหาและตกผลึก main ideas ของงานเขียนให้ได้ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์
- จดโน้ตสิ่งที่เข้าใจด้วยภาษาของตนเอง การจดโน้ตเป็นการช่วยป้องกันการคัดลอกโดยบังเอิญเลือกใช้คำที่เหมือนกัน
- ศึกษาข้อมูลจากแหล่งอื่นประกอบและสังเคราะห์เป็นเนื้อความของตนเอง
- ใส่อ้างอิงแหล่งที่มาของงานเขียนที่นำข้อมูลมาให้ถูกต้องตามหลักการอ้างอิง
- ใช้เครื่องมือตรวจจับการคัดลอกผลงาน เช่น Turnitin หรือ อักขราวิสุทธิ์ ที่จะมีการแสดงค่า Similarity Index (ร้อยละความคล้ายระหว่างเอกสารที่ส่งมาตรวจสอบกับเอกสารที่อยู่ในฐานข้อมูล) และแหล่งที่มาของข้อความนั้นอีกด้วย ทั้งนี้ ร้อยละที่กำหนดจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงานหรือข้อกำหนดของวารสาร
แหล่งอ้างอิง
Indiana University of Pennsylvania. (2025, June 18). Avoiding Plagiarism and Patchwriting.
https://www.iup.edu/scholarlycommunication/our-writing-resources/avoiding-plagiarism.html
Quora. (2025, June 18). Why do students struggle with paraphrasing?
https://www.quora.com/Why-do-students-struggle-with-paraphrasing
University of Richmond School of Law. (2025, June 18). Proper vs. Improper Paraphrasing.
https://law-richmond.libguides.com/c.php?g=998384&p=7227189
Purdue University. (2025, June 18). Paraphrase: Write It in Your Own Words.