เมื่อคืนครูดูรายการทางยูทูป ซึ่งประเด็นเสวนาก็เกี่ยวกับ "เด็กอัจฉริยะ" โดยเชิญน้องนักเรียนชั้น ป.๖ ที่มีความสามารถพิเศษ (เรียกกันว่าอัจฉริยะ) มาให้สัมภาษณ์ พร้อมกับคุณแม่และอาจารย์อีกสองท่าน
เอาละใครสนใจก็ไปตามดูเอง แต่ประเด็นที่ครูขอหยิบขึ้นมาคุยในวันนี้ คือคำว่า "อัจฉริยภาพ" ปกติแล้วเนี่ย เรามักจะเรียกคนที่เรียน "วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์" ได้ในเกณฑ์ที่ดีมากว่าเป็นเด็กกลุ่มอัจฉริยะ เพราะในบรรยากาศการศึกษาของเรามองว่าวิชาในกลุ่มนี้เป็นวิชาที่ซับซ้อน ดังนั้นเด็กที่สามารถเรียนได้ดีจึงเข้าข่ายกลุ่มเด็กอัจฉริยะ
แท้ที่จริงแล้วคำว่าอัจฉริยภาพมีหลายมิติมาก และแต่ละด้านถ้าได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม คนๆ นั้นก็จะเป็นที่มีประสิทธิภาพในแขนงวิชาหรือกระบวนการนั้นๆ และการที่คนๆ หนึ่งจะมีความสุขโดยการหาอัจฉริยภาพหรือความถนัดของตัวเองเจอ และมุ่งฝึกฝนทางด้านนั้น ก้เปรียบเสมือนการเจอขุมทรัพย์ของชีวิตดีๆ นี่เอง แต่น่าเศร้าที่เราโดนตีกรอบว่า การเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้ดีเท่านั้น (รวมถึงสายประยุกต์ของด้านนี้) ถึงจะได้รับตำแหน่ง "เด็กอัจฉริยะ"
เอาละ… ครูเวิ่นเว้อมาพอสมควร ครูขอใช้อีกหนึ่งย่อหน้า เพื่อเล่าความหมายของอัจฉริยภาพให้ฟัง อย่างแรกคำว่า intelligence เนี่ย นิยามยาก เพราะเป็นสิ่งที่สังเกตุไม่ได้โดยตรง ต้องพัฒนาเครื่องมือหรือแบบทดสอบขึ้นมาวัด ดังนั้นแล้วเนี่ยแบบทดสอบต่างสำนักก็อาจจะให้ผลทดสอบที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นคำว่า intelligence เนี่ย เป็นอะไรที่ค่อนข้าง subjective (หรือขึ้นกับความคิดเห็นส่วนตัว) ค่อนข้างมาก
แต่ก็ดูเหมือนว่า (อีกย่อหน้าละ อิอิ) นักจิตวิทยาส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องกันว่าความหลากหลายของเชาวปัญญาหรืออัจริยภาพเนี่ย แบ่งออกเป็น ๗ ด้าน (ไม่ใช่เชาวปัญญาด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว) ซึ่งประกอบไปด้วย ความสามารถทางด้านภาษา (การเขียน การอ่าน การใช้คำ ความซาบซึ้งในววรณคดี เป็นต้น) ความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล (เป็นการใช้หลักการคิดแบบวิทยาศาสตร์ เรื่องเหตุและผล เป็นต้น) ความคิดเกี่ยวกับมิติสัมพันธ์ (เป็นการรับรู้ใชเชิงพื้นที่ที่อยู่รอบตัว) ความสามารถทางด้านดนตรี (ทั้งการแต่ง การเล่น การร้อง) ความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกาย (กีฬา เต้นรำ การแกะสลัก เป็นต้น) ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ (การรับรู้และเข้าใจคนอื่นในเชิงพฤติกรรม ความนึกคิด และอารมณ์เป็นต้น) และสุดท้าย คือความสามารถในการเข้าใจตนเอง (สามารถประเมินและรับรู้ความเป็นตัวตนและสามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
ดังนั้นแล้วเนี่ย เมื่อเราคิดว่าเรามีศักยภาพทางด้านไหนเป็นพิเศษ เราควรที่จะเน้นและพัฒนาในด้านนั้น แต่ไม่ใช่ว่าละทิ้งด้านอื่นไป เพื่อที่เราเองจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและได้ทำในสิ่งที่เราสนใจและสามารถทำได้จริงๆ อย่ายึดติดที่ว่าต้องเก่งวิทย์และคณิตเท่านั้น ถึงจะเป็นอัจฉริยะ ครูชื่นชมคนที่เก่งในแบบที่เค้าเป็น และครูสนับสนุนให้คนนั้นเดินไปให้ไกลที่สุดในศักยภาพที่เค้ามี เหนืออื่นใดการใช้คุณธรรมนำอัจฉริยภาพ จะช่วยให้เรากลายเป็นคนเก่งที่มีเสนห์ และเป็นที่รักของเพื่อนรวมงานและคนรอบข้างทุกคน …. เอาละ ค้นหาตัวเอง เรียนในสิ่งที่ชอบและเป็นตัวเรา เริ่มจากตรงนี้ อนาคตข้างหน้าสดใสแน่ๆ ครับ (ครูตัวกอ)
เรื่องโดย ดร.ปรัชญพงศ์ ยาศรี สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล