Forum

ความแตกต่างระหว่าง ...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

ความแตกต่างระหว่าง “บันทึกความเข้าใจ (MOU)” และ “บันทึกข้อตกลง (MOA)”

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
1,071 เข้าชม
(@natthasit-n)
Eminent Member
เข้าร่วม: 1 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 12
หัวข้อเริ่มต้น  
MOU และ MOA เป็นประเภทของข้อตกลง (Type of Agreements) ที่มีการใช้งานกันบ่อยครั้งในการจัดทำความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับหน่วยงานอื่น (หรือระหว่างต่างสถาบัน) แต่อย่างไรก็ตามการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือจะต้องมีการจัดทำเอกสารอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องเลือกรูปแบบของเอกสารข้อตกลงให้ถูกประเภท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding หรือ MOU) เป็นรูปแบบการจัดทำหนังสือที่แสดงความประสงค์ของบุคคลหรือนิติบุคคลสองฝ่ายหรือมากกว่านั้น (2 or more parties) ที่จะทำความร่วมมือกันโดยเต็มใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุมีการวางแผนทำกิจกรรมร่วมกัน โดย MOU ไม่ถือว่าเป็นสัญญาผูกมัดและไม่มีผลในทางกฎหมาย (non-legally binding contract) เนื่องจากไม่มีสภาพบังคับ หากไม่ปฏิบัติตาม เป็นเพียงการแสดงเจตนาที่แน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติตามเนื้อหาที่ระบุไว้ใน MOU ซึ่งปกติใช้สำหรับความตกลงที่มีขอบเขตจำกัด หรือมิได้มีลักษณะเป็นการถาวร หรือใช้เป็นหลักฐานยืนยันถึงการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน การให้ความช่วยเหลือด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และบุคลากรระหว่างหน่วยงาน เช่น สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ทำบันทึกความเข้าใจกับสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา
*แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้ใน MOU (Breaches the agreement) และมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น สามารถนำบันทึก MOU นี้มาประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้

บันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement หรือ MOA) เป็นหนังสือสัญญา (contractual document) ซึ่งมีข้อตกลงที่มีรายละเอียดลักษณะกิจกรรมที่ชัดเจน มีการระบุหลักเกณฑ์ หน้าที่ (duties, rights) ข้อบังคับ (obligations) หรือวิธีการ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามหรือดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ให้สัญญาหรือตกลงกันเอาไว้ โดย MOA มีสภาพบังคับตามกฎหมายและได้รับการคุ้มครองในทางกฎหมาย (legally binding contract) ให้ปฏิบัติตาม ดังนั้นหากฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ มีความผิดทางกฎหมายฐานประพฤติผิดสัญญา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว MOA มักจะเป็นการลงนามในเรื่องสำคัญและมีการกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย เช่น การดำเนินงานความร่วมมือที่มีผลกระทบต่อการผูกพันทางงบประมาณของหน่วยงาน

 
รายละเอียดสำคัญที่อย่างน้อยต้องปรากฏใน MOU และ MOA
  1. ชื่อที่กำหนดว่าเป็นบันทึกข้อตกลง ชื่อความร่วมมือ หรือหัวข้อความร่วมมือ
  2. รายละเอียดของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย (Identification of parties) ประกอบด้วย
    2.1 ชื่อคู่สัญญาความร่วมมือแต่ละฝ่าย คณะ/หน่วยงานมหาวิทยาลัย/สถาบัน (Name of Institutional collaborators)
    2.2 ตราสัญลักษณ์ (Logo) ของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย
  3. วัตถุประสงค์ (Aim) อธิบายรายละเอียดของวัตถุประสงค์ในการจัดทำ
  4. ขอบเขตความร่วมมือและหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกฝ่าย (Area of collaboration)
  5. การดำเนินการ (Implementation) อธิบายรายละเอียดการบริหารจัดการ การดำเนินกิจกรรมภายใต้ MOU/MOA พร้อมระบุหน้าที่รับผิดชอบของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย รวมถึงกิจกรรมที่ตกลงกัน รูปแบบกิจกรรม การสนับสนุน ค่าใช้จ่ายกิจกรรม ระยะเวลา จำนวนของการแลกเปลี่ยน เป็นต้น
  6. การรักษาความลับ (ถ้ามี)
  7. การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ถ้ามี)
  8. ข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Provision)(ถ้ามี)
  9. ระยะเวลาที่มีผลต่อการบังคับใช้ MOU/MOA (Duration and termination of the Agreement)
    9.1 อายุของ MOU ไม่ควรเกิน 5 ปี และ MOA อายุไม่ควรเกิน 3 ปี *กำหนดได้ตามความเหมาะสมกับสิ่งที่ตกลงร่วมมือกัน
    9.2 กระบวนการตรวจสอบ MOU/MOA (MOU/MOA review process)
  10. การบอกเลิกบันทึกข้อตกลง (ถ้ามี)
  11. การสิ้นสุดความร่วมมือบันทึกข้อตกลงก่อนบรรลุวัตถุประสงค์ (ถ้ามี)
  12. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขบันทึกข้อตกลง (ถ้ามี)
  13. การบอกกล่าว (ถ้ามี)
  14. รายละเอียดผู้ประสานงาน(ถ้ามี)
  15. การรับรองอย่างเป็นทางการของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย (Official endorsement by each Party) ลายเซ็นต์ของผู้มีอำนาจในการลงนามของแต่ละฝ่ายพร้อมการลงนามของพยานทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวสามารถกำหนดรายละเอียดและหัวข้ออื่นเพิ่มเติมได้

 
 
แหล่งอ้างอิง
  1. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.). (2566) คู่มือการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ. เข้าถึงได้จาก https://backend.ha.or.th/fileupload/DOCUMENT/00167/0f1395c2-2498-4562-a856-bf1df768ed17.pdf

   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,420,315 views since 16 August 2018