การพูดคุยกันในสังคมการทำงาน มีหลายประเภท ซึ่งก็มีทั้งคำพูดที่ผู้ฟังฟังแล้วสบายใจ มีกำลังใจ มีแรงฮึกเหิมในการทำงาน และมีคำพูดที่ผู้ฟังๆ แล้วเกิดความรู้สึกเศร้าใจ เสียใจหรือหมดกำลังใจได้ ในที่นี้เราจะมาดูลักษณะของคำพูดที่ไม่ควรพูดเพราะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบแก่ผู้ฟังได้
พูดโดยไม่ยั้งคิด
บางคนพูดบางสิ่งบางอย่างออกไปโดยไม่ได้คิดให้ดีว่าจะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง บางคนพูดเพราะเป็นความเคยชิน คิดว่าเราเคยพูดแบบนี้กับอีกคนหนึ่งแล้วไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่ลืมคิดไปว่าแต่ละคนนั้นมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันนี้ในการทำงานในออฟฟิศ เราต้องคิดให้มากขึ้นก่อนที่จะพูดอะไร อย่างน้อยให้คิดสักนิดว่าไม่มีใครอยากได้ยินเรื่องที่ไม่ดี หรือเรื่องที่ทำร้ายจิตใจ เราเองก็เช่นเดียวกัน หากไม่อยากได้ยินคำพูดแบบไหนจากคนอื่น เราก็ไม่ควรพูดสิ่งนั้นออกมา
ทำให้รู้สึกอับอาย
บางครั้งหัวหน้างาน หรือรุ่นพี่บางคนอาจจะเผลอใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจพนักงานใหม่โดยไม่รู้ตัว เช่น เราอาจจะใช้คำพูดอย่างนี้ เมื่อพนักงานใหม่ไม่ได้เรียนรู้ได้ไวอย่างที่เราตั้งความหวังไว “ทำไมถึงทำงานพลาดบ่อยจัง ตั้งใจทำงานบ้างหรือเปล่า” เจตนาที่แท้จริงของเราอาจจะแค่ถาม แต่คนที่ฟังจะรู้สึกไปแล้วว่ากำลังถูกเราตำหนิ หรือถูกทำให้รู้สึกอับอาย จนหมดกำลังใจในการทำงานไปเลยก็ได้ เราควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำพูดเช่นนี้ เพราะนอกจากจะไม่เป็นที่รักแล้ว ยังจะทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานได้ เพื่อนร่วมงานจะรู้สึกว่าถ้าเลือกได้ เขาจะไม่ทำงานกับเรา
ไม่รักษาน้ำใจ
การใช้คำพูดที่ไม่เห็นแก่หน้า ไม่รักษาน้ำใจเพื่อนร่วมงาน เช่น เมื่อเพื่อนร่วมงานทำงานได้ไม่ดี เราอาจเผลอพูดไปว่า “เดี๋ยวทำเองดีกว่า” แม้ว่าจะไม่คำพูดใดที่แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจ แต่คนฟังจะรับรู้ได้ว่าผลงานของเขาไม่เป็นที่น่าพอใจ คำพูดเช่นนี้ไม่เพียงทำร้ายจิตใจ แต่ยังทำลายมิตรภาพดี ๆ ในที่ทำงานด้วย การปฏิเสธความปรารถนาดีของเพื่อนร่วมงาน จะส่งผลต่อการทำงานในระยะยาว ถ้าหลีกเลี่ยงก็ไม่ควรใช้คำพูดที่จะทำให้เรามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
คำพูดบางคำที่เราเผลอใช้โดยไม่รู้ตัว อาจจะทำให้ผู้ฟังเสียความรู้สึกได้ ดังนั้น ก่อนที่เราจะพูด เราต้องคิดให้ดีเสียก่อน อย่าเผลอทำร้ายจิตใจเพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว การกล่าวคำขอโทษ อาจฟังดูเหมือนการแก้ตัว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้สึกว่าเราพูดจารุนแรงเกินกว่าเหตุ การขอโทษแล้วปรับความเข้าใจกัน จะช่วยให้สถานการณ์ดูเบาบางลง
ที่มา : https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%E0%B8%84%E0%B8% B3%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A8
เรื่องโดย วิราวรรณ ฉายรัศมีกุล สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล