ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ ของหน่วยงานภาครัฐ คิดแบบไหน มีหลักเกณฑ์อย่างไร
มาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ฉบับที่ 17 เรื่อง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง มาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 กำหนดคำนิยาม “ค่าเสื่อราคา” หมายถึง การปันส่วนจำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์อย่างมีระบบตลอดอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น
โดยหน่วยงานตองคิดค่าเสื่อมราคาสำหรับส่วนประกอบของรายการ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์แต่ละส่วนแยกต่างหากกัน เมื่อส่วนประกอบแต่ละส่วนนั้นมีต้นทุนที่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของสินทรัพย์นั้น เช่น หน่วยงานอาจคิดค่าเสื่อมราคาของอาคาร ลิฟท์ และเครื่องปรับอากาศ ภายในอาคารแยกจากกันเป็นต้น
การรับรู้สินทรัพย์ประเภท ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์นั้น ให้หน่วยงานรับรู้สินทรัพย์ ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป โดยให้รับรู้สินทรัพย์ซึ่งมูลค่าเริ่มแรกของสินทรัพย์ตามราคาทุนที่เกิดขึ้นจาการจัดหาสินทรัพย์นั้น ให้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ในครั้งแรกด้วย ซึ่งกรณี สินทรัพย์มีมูลค่าต่ำกว่า 10,000 บาท และมีอายุการใช้งานของสินทรัพย์นั้นเกิน กว่า 1 ปี ให้รับรู้เป็น ค่าใช้จ่ายในชื่อบัญชี “ ค่าครุภัณฑ์มูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์” และจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินไว้เพื่อใช้ในการควบคุมและตรวจสอบ
วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาที่นิยม มี 4 วิธี คือ วิธีเส้นตรง วิธียอดลดลงทวีคูณ วิธีผลรวมจำนวนปี และวิธีจำนวนผลผลิต ซึ่งมีวิธีคิดคำนวนดังนี้
1.วิธีเส้นตรง คำนวณจากการนำราคาทุนของสินทรัพย์ในหมวดที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (ยกเว้นที่ดิน) หักด้วยมูลค่าซาก หารด้วยอายุการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ค่าเสื่อมราคาเท่ากันทุกปี
2.วิธียอดลดลงทวีคูณ คำนวณโดยใช้ สองเท่าของอัตราค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรงคูณด้วยราคาตามบัญชีของสินทรัพย์ ณ วันต้นงวด
3.วิธีผลรวมจำนวนปี คำนวณจากเศษส่วนของอายุการใช้งานคงเหลือของสินทรัพย์ คูณด้วยราคาทุนหักมูลค่าซาก
4.วิธีจำนวนผลผลิต คำนวณจาก การคำนวณหาค่าเสื่อมราคาต่อหน่วยคูณด้วยปริมาณผลผลิตในแต่ละงวดบัญชี
วิธีการค่าเสื่อมราคาที่หน่วยงานภาครัฐและ หน่วยงานอื่นๆ นิยมใช้กันทั่วไป คือ วิธีเส้นตรง ซึ่งในปัจจุบัน มีโปรแกรม สำเร็จรูปทางการบัญชี คำนวณให้ทั้งหมด เพียงแต่บันทึก ข้อมูลสินทรัพย์ให้ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามคน ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องบัญชีค่าเสื่อมราคา ก็ควรต้องรู้ หลักเกณฑ์ในการบันทึกข้อมูล วิธีการคำนวณ เพื่อตรวจสอบข้อมูลด้วย
ที่มา คู่มือการบัญชีภาครัฐ เรื่อง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
โดย นีรชา กลิ่นพยอม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้