Forum

น้ำหอมเสน่ห์แห่งการ...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

น้ำหอมเสน่ห์แห่งการแต้มกลิ่น ตอนที่ 2 (Perfume: The Charming Scents - Part II)

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
1 Reactions
952 เข้าชม
(@chantarat-hir)
Active Member
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 6
หัวข้อเริ่มต้น  

น้ำหอม เสน่ห์แห่งการแต้มกลิ่น ตอนที่ 2

(Perfume: The Charming Scents - Part II)

       กลิ่นหอม (Fragrance) เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สามารถครอบงำอารมณ์ความรู้สึกและจิตใจมนุษย์เราได้มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยโบราณกรรมวิธีในการผลิตน้ำหอม (Perfume) และเครื่องหอม (Incense) ต่าง ๆ ถูกเก็บเป็นความลับสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ในปัจจุบันกลิ่น (Scents) ที่ถูกผลิตออกมามีความหลากหลายมากขึ้นจนกลายเป็นอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกับคนระดับสูง

       โดยทั่วไปแล้วกลิ่นจะต้องเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่เบาพอที่จะลอยอยู่ในอากาศได้ เมื่ออากาศไหลผ่านจมูกโมเลกุลของกลิ่นจะกระทบเข้ากับเซลล์ประสาทรับกลิ่นภายในจมูก ซึ่งมีลักษณะเป็นขน ทำหน้าที่จับโมเลกุลของกลิ่นที่ผ่านเข้ามา และเมื่อมีการจับกันระหว่างโมเลกุลจะเกิดการกระตุ้นส่งต่อกระแสประสาทไปยังสมองให้แปลผลการรับรู้ของกลิ่นที่ได้รับ

       ทั้งนี้ น้ำหอมที่ดีเยี่ยมต้องมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เนื่องจากน้ำหอมมี "ชั้น" ของกลิ่นที่ทำให้มีความลึกล้ำและคุณลักษณะเฉพาะตัว และในวงการอุตสาหกรรมน้ำหอมมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกกลิ่นที่ผสมผสานกันว่า “Notes” ซึ่งการรวมกันของกลิ่นอย่างลงตัวนั้นนำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปกติระดับกลิ่นของน้ำหอมจะไม่คงที่แต่จะค่อย ๆ เปลี่ยนระดับของกลิ่นหรือแสดงกลิ่นออกมาในเวลาที่แตกต่างกันตามกาลเวลา  ดังนั้น น้ำหอมจึงถูกออกแบบมาเพื่อให้มีกลิ่น 3 ระดับ คือ กลิ่นแรก (Top Notes) กลิ่นกลาง (Middle Notes) และกลิ่นพื้นฐาน (Base Notes) ดังนี้

ระดับกลิ่นของความหอม (Fragrance’s notes) ประกอบไปด้วยกลิ่น 3 ระดับ

  1. Top Notes หรือ Head Notes: เป็นกลิ่นน้ำหอมที่ระเหยออกมาตัวแรกสุด (ช่วงแรก) โดยผู้ใช้จะได้กลิ่นของ Top notes ในช่วง 10-15 นาทีแรกหลังการใช้น้ำหอม และจางหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทำจากโมเลกุลขนาดเล็กทำให้กลิ่นระเหยได้ง่าย นักออกแบบน้ำหอมจึงมักใช้กลิ่นที่โดดเด่นเพื่อดึงดูดความสนใจ ส่วนใหญ่เป็นแนวกลิ่นลักษณะหอมสดชื่นและบางเบาแบบส้ม มะนาว หรือดอกไม้
  2. Middle Notes หรือ Heart Notes: เป็นกลิ่นน้ำหอมตัวหลักของน้ำหอมกลิ่นนั้นที่ทำให้ผู้ได้รับกลิ่นจดจำกลิ่นได้ ถือว่าเป็นหัวใจของน้ำหอมและบ่งบอกบุคลิกของน้ำหอมอย่างชัดเจน โดยจะมีกลิ่นที่กลมกลืนไปกับ Base notes และจะคงความหอมติดทนหลังจากฉีด 3-4 ชั่วโมง (หรือติดทนผิวได้นาน 2-4 ชั่วโมง) ซึ่งกลิ่นจะปรากฏขึ้นเมื่อกลิ่นแรก (Top notes) ค่อยๆ จางลง นักออกแบบน้ำหอมจึงมักใช้ส่วนผสมคัดสรรเป็นพิเศษเพื่อให้โดดเด่น แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะเป็นกลิ่นไม้หอม วานิลลา หรือดอกไม้ที่หายากและราคาค่อนข้างสูง
  3. Base note (Basic Notes) หรือ Bottom Notes หรือ Lase note: เป็นกลิ่นน้ำหอมสุดท้ายที่ออกมาหลังจากกลิ่นก่อนหน้าแห้งระเหยไปแล้ว จะเป็นกลิ่นที่ช่วยสนับสนุนกลิ่นของน้ำหอมทั้งหมด เนื่องจากเป็นโมเลกุลใหญ่หรือเป็นสารประกอบของโมเลกุลที่ระเหยได้ช้า ทำให้กลิ่นติดทนนานที่สุด (คงอยู่ได้ตลอดทั้งวัน) ผสมผสานเข้ากับกลิ่นกายเป็นบุคลิกของผู้ใช้ ให้ความลุ่มลึกและนำมาซึ่งความประทับใจ โดยจะแสดงกลิ่นเมื่อเวลาผ่านไป ประมาณ 4-6 ชั่วโมงต่อมา แต่กลิ่นเจือจางมากและค่อย ๆ จางหายไปในที่สุด ซึ่งผู้ใช้อาจจะไม่รู้สึกถึงกลิ่นน้ำหอมชั้นนี้จนกว่าจะได้ใช้เวลาอยู่กับกลิ่นประมาณ 30 นาที นักออกแบบน้ำหอมส่วนใหญ่จึงมักใช้กลิ่นแนวมัสก์ อำพัน โอ๊กมอส หรือวานิลลา เป็นสำคัญ

       นอกจากนี้ กลิ่นของน้ำหอม (Perfume scents) บางชนิดสังเคราะห์ได้จากวัสดุทางธรรมชาติ และบางชนิดสังเคราะห์ขึ้นจากสารตั้งต้นในห้องปฏิบัติการ  ซึ่งสารที่นำมาใช้เพื่อทำน้ำหอมนั้นสามารถนำไปใช้กับผิวหนัง เสื้อผ้า เครื่องสำอาง น้ำยาทำความสะอาด รวมถึงสเปรย์ปรับอากาศได้ ทั้งนี้จากความแตกต่างของอุณหภูมิ กลิ่นตัว และเคมีในร่างกาย (Body Chemistry) ของแต่ละบุคคล ทำให้น้ำหอมให้กลิ่นเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การเลือกน้ำหอมให้เหมาะกับสภาพผิวจึงเป็นสิ่งสำคัญ แบ่งเป็น 3 สภาพผิว ดังนี้

  1. ผิวมัน (Oily Skin): สภาพผิวมักจะมีน้ำมันซึ่งช่วยให้กลิ่นหอมติดทนและกระจายกลิ่นค่อนข้างดี รวมถึงทำให้กลิ่นที่ใช้ฉุนและแรงขึ้นกว่าปกติ แนะนำให้หลีกเลี่ยงน้ำหอมกลิ่นฉุน ๆ แล้วใช้น้ำหอมที่กลิ่นอ่อนโยนหรือเบาบาง เช่น น้ำหอมประเภท Eau de Toilette (EDT) หรือ Eau de Cologne (EDC)
  2. ผิวแห้ง (Dry Skin): สภาพผิวพร้อมจะดูดซึมความมันจากน้ำหอมไว้ได้ดี ทำให้การกระจายตัวของกลิ่นหอมนั้นน้อยกว่าคนผิวมัน จึงทำให้กลิ่นน้ำหอมจืดจางลงได้อย่างรวดเร็ว แนะนำให้ใช้น้ำหอมที่กลิ่นค่อนข้างแรง และเข้มข้นมากกว่าปกติ ควรเป็นน้ำหอมประเภท Parfum หรือระดับความหอมรอง ๆ ลงมา เช่น น้ำหอมประเภท Eau de Toilette (EDT) และควรหลีกเลี่ยงน้ำหอมชนิดที่เป็น Eau de Cologne (EDC) หรือ Eau Fraiche หรือ Body Mist เพราะเป็นน้ำหอมที่มีระดับความเข้มข้นของหัวน้ำหอมน้อยที่สุด
  3. ผิวที่เหงื่อออกง่าย (Clammy Skin): สภาพผิวของผู้ใช้ที่เหงื่อออก (Sweating) มากกว่าปกติ หรือออกได้ง่าย เมื่อเวลาเหงื่อออกรูขุมขนจะเปิดให้เหงื่อไหลออกมาเพื่อระบายความร้อนของผิวหนัง และโดยปกติน้ำหอมจะมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบทำให้แอลกอฮอล์ซึมซาบเข้าไปในผิว จึงทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคืองขึ้นได้ ดังนั้น น้ำหอมแบบที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือแบบที่เป็น Body Mist จึงนับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

          สำหรับบทความในครั้งนี้หวังว่าคงเป็นประโยชน์และเกร็ดความรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับน้ำหอมให้กับผู้อ่านมากขึ้น อย่างไรก็ตามขอให้ติดตามอ่านบทความในครั้งต่อไปนะคะ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. นิพิฐพนธ์ รุ่งเรือง. Grooming: คำศัพท์เฉพาะของศาสตร์น้ำหอม. GQ Thailand [อินเทอร์เน็ต]. 15 ก.ย. 2559 - [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://www.gqthailand.com/style/article/lesson-in-scent
  2. พรรณพร กะตะจิตต์. บทความเคมี: เคมีของน้ำหอม. SCIMATH: คลังความรู้ SciMath [อินเทอร์เน็ต]. 4 ก.ค. 2561 - [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://www.scimath.org/article-chemistry/item/7851-2018-02-22-02-20-01
  3. Black leather jacket. STYLE: การเลือกซื้อน้ำหอม. Metrosociety Magazine [อินเทอร์เน็ต]. 29 ธ.ค. 2559 - [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.metro-society.com/th/style/perfume-secret-part-2
  4. Beauty Editor. บทความร้านเสริมสวยและสปา: รู้10 น้ำหอมสุดคลาสสิก ฮิตตลอดกาล พร้อมวิธีเลือกกลิ่นให้เหมาะสม!. Wongnai [อินเทอร์เน็ต]. 4 ส.ค. 2562 - [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://www.wongnai.com/articles/about-perfume

โดย นางสาวจันทรัตน์ หิรัญกิจรังษี

นักวิเคราะห์นโยบายและแผน

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


   
IL Admin reacted
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,378,738 views since 16 August 2018