Forum

ปริญญาบัตรกับการศึก...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

ปริญญาบัตรกับการศึกษา

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
238 เข้าชม
(@manatsawee-srinont)
Reputable Member
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 111
หัวข้อเริ่มต้น  

โดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์

          สังคมไทยในช่วงนี้ จะมีข่าวที่น่าสนใจและเป็นกระแสอยู่หลายเรื่อง มีทั้งข่าวสังคม การเมือง การศึกษา และการศาสนา แต่ก็มีข่าวที่อยากชวนให้ความคิดเห็นกัน คือ ข่าวหลักสูตรของสถาบันการศึกษา ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษา และข่าวการไม่มั่นใจในวุฒิการศึกษาของครูบาอาจารย์ที่สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือจะเรียกว่าการใช้วุฒิการศึกษาปลอมของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั่นเอง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างในมุมมองทางการศึกษา ควรนำมาเสนอเป็นบทความวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

          สำหรับเรื่องการศึกษาเล่าเรียน ควรถกกันในเบื้องต้นก่อนว่า คนไทยโดยส่วนใหญ่มองการศึกษากันอย่างไร มองการศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษาหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้จากคนไทยตั้งแต่เกิดจนแก่มักมองการได้มาของวุฒิการศึกษาหรือปริญญาบัตรว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการศึกษาเล่าเรียน เรียกว่าใครได้วุฒิการศึกษาสูงๆ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูงและเป็นที่น่าเชื่อถือในสังคม ส่วนผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาก็จะถูกมองว่าเป็นผู้ไร้การศึกษา ดังนั้น ที่ผ่านมาคนไทยบางส่วนจึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา ส่วนจะได้วุฒิการศึกษามาอย่างไรนั้นไม่สำคัญ เพราะเมื่อได้วุฒิการศึกษามาแล้วก็จะมีคนยกย่องนับหน้าถือตาแตกต่างจากที่ไม่มีวุฒิการศึกษาไปเลย แต่ในความเป็นจริงตามหลักการศึกษา การได้วุฒิการศึกษาหรือปริญญาบัตรดังกล่าว คือการได้มาซึ่งความรู้ตามที่หลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ คาดหวัง และปริญญาบัตรหรือวุฒิการศึกษาของผู้จบการศึกษาจริงๆ ก็ไม่ต้องมีความสงสัยแต่ประการใด เพราะเป็นการใช้ความเพียรพยายามในการแสวงหาความรู้ใส่ตน ผู้ศึกษาย่อมจะได้ความรู้ติดตัว ในขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานเอกสารให้คนอื่นเห็นได้ง่ายๆ เท่านั้น ดังนั้น เรื่องความยากลำบากในการศึกษาเล่าเรียนจนกว่าจะได้ปริญญาบัตรหรือวุฒิการศึกษาย่อมไม่มีใครรู้สึกหรือสัมผัสตามสภาพความเป็นจริงได้เท่ากับผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเองแน่นอน เรียกว่าเมื่อไปศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาไหนหรือในระดับใด หากเป็นสถาบันการศึกษาและเป็นหลักสูตรที่เป็นที่ยอมรับในประเทศนั้นๆ ไม่มีทางที่ผู้เข้าไปศึกษาเล่าเรียนจะจบการศึกษาได้ง่ายๆ เพราะผู้บริหารการศึกษาแต่ละแห่งย่อมบริหารจัดการการศึกษาให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และต้องให้ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาด้วย

          จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการได้ปริญญาบัตรหรือวุฒิการศึกษาจากสถาบันการศึกษามีความเชื่อมโยงกัน วุฒิการศึกษาที่ได้จากสถาบันการศึกษาที่ได้การรับรองหรือได้รับการยอมรับจากสังคม ย่อมมีความถูกต้องตามมา ในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาที่ไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทางการศึกษา วุฒิการศึกษาหรือเอกสารการสำเร็จการศึกษาของผู้ศึกษาเล่าเรียนจากสถาบันการศึกษานั้นๆ ย่อมจะไม่ถูกต้องด้วย ดังนั้น ความถูกต้องดีงามที่จะเกิดขึ้นกับการศึกษาย่อมมาจากความถูกต้องของ ทุกองคาพยพที่เกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันที่จัดการศึกษาก็จะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ครู อาจารย์ที่สอนหนังสือจะต้องมีคุณวุฒิและคุณสมบัติที่ชัดเจน ต้องมีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่สถาบันการศึกษาเปิดการเรียนการสอน พร้อมกันนี้ หลักสูตรต่างๆ ที่สถาบันการศึกษาเปิดสอนให้กับผู้สนใจเข้ามาศึกษาเล่าเรียนก็ต้องเป็นหลักสูตรที่ได้เกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่เริ่มทำหลักสูตรการบริหารหลักสูตร และการประเมินคุณภาพหลักสูตรในแต่ละปีการศึกษา เรียกว่าทุกกระบวนการในการบริหารจัดการหลักสูตรจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือผ่านการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอก

          ส่วนประเด็นสุดท้ายที่อยากนำเสนอในที่นี้เกี่ยวกับผู้ศึกษาเล่าเรียนที่สนใจเข้าไปศึกษาในสถาบันการศึกษาในแต่ละหลักสูตร ก็ควรได้รับรู้และรับทราบเกี่ยวกับสถานภาพที่แท้จริงของหลักสูตรและสถาบันการศึกษาที่ตนเองเข้าไปศึกษาเล่าเรียนด้วย ไม่ใช่เพียงแค่เห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่น่าเชื่อถือหรือเป็นสถาบันการศึกษาที่สัมผัสได้ด้วยสายตาของตนเองแล้วจะเชื่อถือได้หมดเลย เพราะในสถาบันการศึกษานั้นก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ศึกษาจะต้องตรวจสอบดูให้เรียบร้อยและพิจารณาให้ดีว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งโดยผิดกฎหมายก็ไม่ควรเข้าไปศึกษาเล่าเรียน แม้ว่าสถาบันการศึกษาดังกล่าวจะเชิญชวนหรือล่อลวงด้วยความง่ายที่จะจบการศึกษาก็ตามซึ่งท้ายที่สุดย่อมจะมีผลเสียตามมาอีกมากมาย เช่น การไม่รับรองปริญญาบัตรของผู้ที่จบการศึกษาและผู้ที่จบการศึกษาก็ไม่สามารถนำวุฒิการศึกษาไปสมัครงานได้ ส่งผลให้ผู้ที่ใช้วุฒิการศึกษาเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิในสิ่งอันพึงได้ต่างๆ อีกด้วย และประการสำคัญที่ทำให้เกิดประเด็นปัญหา คือ การอยากได้วุฒิการศึกษาเพื่อนำไปสู่ความความต้องการในบางสิ่งบางอย่างของตนเองโดยไม่สนใจความถูกต้องหรือความชอบธรรมในปริญญาบัตรที่ตนเองได้มาจากสถาบันการศึกษาและเลวร้ายที่สุด คือ ผู้ที่ได้วุฒิการศึกษาปลอมไปประกอบอาชีพเป็นครู อาจารย์ในสถาบันการศึกษาแล้วไปฝึกอบรมนักศึกษาให้มีคุณธรรมจริยธรรม ความประสงค์ดังกล่าวจะสำเร็จผลได้อย่างไรในเมื่อตนเองก็ได้วุฒิการศึกษามาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักแห่งคุณธรรมจริยธรรม

สรุปแล้ว เรื่องปริญญาบัตรกับการศึกษาที่เกิดเป็นปัญหากับสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ จะระบุว่าเป็นความผิดหรือไม่ถูกต้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงไม่ถูกต้องนัก เพราะหากคิดว่าเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วการปรับปรุงแก้ไขคงเกิดขึ้นได้ยากส่วนที่ถูกต้องและที่ควรจะเป็นคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับองคาพยพในทางการศึกษาควรทำให้ถูกต้อง ได้แก่ ถูกต้องทั้งในแง่กฎหมายและถูกต้องทั้งในแง่คุณธรรมจริยธรรม โดยสถาบันการศึกษา ผู้บริหาร และครู อาจารย์ในสถาบันการศึกษาต้องไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ที่สังคมสร้างขึ้นและผู้ศึกษาเล่าเรียนก็จะต้องมุ่งเข้าไปในสถาบันการศึกษาด้วยความอยากที่จะแสวงหาความรู้มากกว่าหวังปริญญาบัตรหรือวุฒิการศึกษาเท่านั้นส่วนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งผู้ศึกษาเล่าเรียนต้องเป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนด้วยความรักในความรู้ ไม่ใช่ศึกษาเล่าเรียนด้วยความโลภ ความอยากมี ความอยากเป็น ความอยากอยู่เหนือคนอื่นๆ ซึ่งหากศึกษาเล่าเรียนด้วยความปรารถนาเช่นนี้แล้วการจัดการศึกษาที่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งทำกันอยู่ในสังคมย่อมถือว่าเป็นความล้มเหลวและเป็นความเลวร้ายที่สุด เพราะคนที่จบการศึกษาเล่าเรียนออกไปในลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็นมารหรือเป็นขยะของสังคมต่อไป

--------------------------------------------

โดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


   
อ้างอิง

ทิ้งคำตอบไว้

ชื่อผู้แต่ง

อีเมลผู้เขียน

ตำแหน่ง *

 
ดูตัวอย่าง แก้ไข 0 ครั้ง บันทึกแล้ว
แบ่งปัน:
1,257,945 views since 16 August 2018