Forum

ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อ...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
558 เข้าชม
(@jiraporn-karaket)
Eminent Member
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 8
หัวข้อเริ่มต้น  

ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่ครอบครัวและผู้สูงอายุเองต้องควรเฝ้าระวัง ซึ่งการรับรู้ปัญหาสุขภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในวัยสูงอายุเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เราตระหนักและเรียนรู้ถึงวิธีการรับมือและช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นพร้อมทั้งช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อีกยาวนานด้วยสุขภาพที่ดีและสดใสพร้อมที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุข

ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น การทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะย่อมเสื่อมถอยลงไป ปัญหาสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แต่สามารถทำความเข้าใจ เพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันและดูแลได้ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ กลุ่มแรกคือ กลุ่มโรคสามัญทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไต ซึ่งเกิดได้กับคนทุกวัย แต่พออายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอาการที่เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุ คือเกิดจากความชราภาพของร่างกายหรือจากผลข้างเคียงจากโรคที่มารุมเร้าทำให้การดูแลตนเองถดถอยลง  

 สำหรับกลุ่มอาการที่เป็นปัญหาเฉพาะหรือพบบ่อยในผู้สูงอายุนั้น ได้แก่

  1. อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ

อาการหลงลืมหรือคิดช้าลงเป็นอาการที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น หากมีปัญหาสุขภาพที่เฉียบพลัน เช่น การอักเสบติดเชื้อ หัวใจหรือสมองขาดเลือด ก็อาจเกิดอาการเพ้อ งุนงง สับสนได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อแก้ไขที่สาเหตุของการเจ็บป่วย อาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้นได้

  1. ภาวะกระดูกพรุน

เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเพราะแทบไม่มีอาการเลย กว่าจะทราบก็เมื่อหกล้มกระดูกหักแล้ว ภาวะกระดูกพรุนคือการที่เนื้อกระดูกบางลง ทำให้เปราะหักหรือยุบง่าย ส่วนใหญ่พบได้ในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนและผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี

  1. ปัญหาการทรงตัวและการหกล้ม

ปัญหาการทรงตัวหรือหกล้มในผู้สูงอายุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ข้อเสื่อม กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง โรคทางสมอง ความดันโลหิตตกเมื่อลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาต่างๆ ที่มีผลต่อความดันโลหิตหรือทำให้ง่วง สภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นที่ลาดเอียงหรือลื่นเปียก เป็นต้น ปัญหาการทรงตัวและการหกล้มเป็นปัญหาที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากมีกระดูกบางพรุนอยู่แล้ว เมื่อหกล้มก็อาจทำให้กระดูกหักได้ง่ายและอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนที่ตามมาจากการผ่าตัดและนอนโรงพยาบาลนาน

  1. อาการนอนไม่หลับ

ผู้สูงอายุมักมีปัญหาคุณภาพการนอนที่ลดน้อยลง อาจหลับยากขึ้น ตื่นบ่อย หลับไม่ลึก และตื่นมาไม่สดชื่น โดยมีสาเหตุจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามวัย รวมถึงอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล อาการปวดต่างๆ กรดไหลย้อน ปัญหาการหายใจหรือโรคนอนกรน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผลข้างเคียงจากยา ทั้งนี้อาการนอนไม่หลับมักส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการลื่นหกล้ม อารมณ์หงุดหงิดหรือภูมิคุ้มกันลดลงจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมในผู้สูงอายุ

  1. ปัญหาการกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่

ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาในเรื่องของการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนหรืออ่อนล้า กระเพาะปัสสาวะอ่อนไหวเกินไป ความบกพร่องในการควบคุมการกลั้นการขับถ่ายที่เกิดจากสมองหรือเส้นประสาท การรับประทานยาบางชนิด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ภาวะท้องผูก ต่อมลูกหมากโต และโรคเบาหวาน

  1. อาการมึนงง เวียนศีรษะ

อาการมึนงงและเวียนศีรษะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การหกล้มตามมาได้ อาการนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตต่ำ ผลข้างเคียงจากยา (เช่น ยาแก้ปวดบางชนิดยาคลายเครียด ยากันชัก) ภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โลหิตจาง ความวิตกกังวล เป็นต้น

  1. ปัญหาภาวะทุพโภชนาการและความผิดปกติในการรับประทานอาหาร

เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาสุขภาพฟัน ภาวะกลืนลำบาก ความอยากอาหารน้อยลง น้ำหนักลด ผลข้างเคียงจากยาทำให้เบื่ออาหาร ภาวะซึมเศร้าหรือหลงลืมทำให้ไม่ดูแลโภชนาการตนเอง โรคเรื้อรังต่างๆ ที่ส่งผลต่อความอยากอาหาร เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อ ภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบลง และแขนขาอ่อนแรง

  1. ปัญหาการได้ยิน

ผู้สูงอายุจะมีความสามารถในการรับเสียงที่แย่ลง มักมีอาการหูอื้อหรือหูตึง โดยมีอาการเริ่มแรกคือ ไม่ค่อยได้ยินเสียงแหลมๆ หรือเสียงที่มีความถี่สูง เช่น เสียงผู้หญิง เสียงดนตรีคีย์สูงๆ หรือเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งมีเสียงรบกวนก็อาจฟังไม่เข้าใจทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลงโดยไม่รู้ตัว

  1. ปัญหาการมองเห็น

นอกเหนือจากวัยที่เพิ่มขึ้นแล้ว โรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการมองเห็นที่ลดลง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้

การดูแลผู้สูงอายุควรเริ่มต้นที่การมีเวลาให้ท่านรวมถึงตัวผู้สูงอายุเองควรปรับการใช้ชีวิตดูแลสภาพจิตใจตัวเองให้เบิกบาน ไม่เครียด หากิจกรรมทำในแต่ละวัน ขณะเดียวกันสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลก็มีส่วนอย่างมากต่อการดำรงชีวิตที่มีความสุขของผู้สูงอายุ เพราะการดูแลเอาใจใส่ผู้ใหญ่ในบ้านด้วยความรัก ปฏิบัติต่อท่านอย่างนุ่มนวลอ่อนโยนคือหัวใจของการดูแลผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ซึ่งหากรู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นแล้ว สมาชิกในครอบครัวรวมถึงผู้สูงอายุต้องเรียนรู้วิธีรับมือและป้องกันอย่างถูกวิธีพร้อมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป

 

เขียนโดย  จิราภรณ์ การะเกตุ

ที่มา :

[1]      คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์​

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/january-2015/health-problems-of-the-older-person#:~:text=%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2,%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B2


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,420,696 views since 16 August 2018