Forum

ระดับสมรรถนะมาตรฐาน...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

ระดับสมรรถนะมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์ตามกรอบ United Kingdom Professional Standards Framework (UKPSF) - ตอนที่ 1

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
110 เข้าชม
(@chantarat-hir)
Eminent Member
เข้าร่วม: 6 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 8
หัวข้อเริ่มต้น  

ระดับสมรรถนะมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์ตามกรอบ United Kingdom Professional Standards Framework (UKPSF) - ตอนที่ 1

        สำหรับบทความนี้จะเป็นเนื้อหาทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับระดับสมรรถนะมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์ตามกรอบ United Kingdom Professional Standards Framework (UKPSF) ซึ่งเป็นระบบการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาของประเทศสหราชอาณาจักร โดยสถาบันการอุดมศึกษาประเทศสหราชอาณาจักร (The Higher Education Academy : HEA หรือ Advance HE) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติที่ทำหน้าที่ประเมินและรับรองหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพการสอนและวิทยฐานะวิชาชีพการสอนของคณาจารย์และบุคลากรสนับสนุนการเรียนรู้ในสถาบันอุดมศึกษา และได้รับการยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก

        ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการเรียนการสอน เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ อีกทั้งเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนมีทักษะความสามารถ สำหรับการจัดการเรียนการสอนสู่ระดับมาตรฐานสากลมากขึ้น จึงได้เริ่มมีการนำรูปแบบมาปรับใช้หลักการและวิธีการเพื่อการพัฒนาสมรรถนะมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์ระดับมาตรฐานสากล โดย The Higher Education Academy (HEA) หรือ Advance HE ร่วมกับ สถาบันอุดมศึกษา สำหรับประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ให้ความสำคัญกับ UKPSF จึงร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรแกนนำด้านการจัดการเรียนการสอนตามกรอบ UKPSF นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ให้ความสำคัญและนำกรอบมาตรฐานวิชาชีพของอาจารย์มืออาชีพ (PSF) มาพัฒนาผู้สอนเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนสู่ระดับมาตรฐานสากล เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น

        โดยวัตถุประสงค์ของกรอบมาตรฐาน UKPSF คือ การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพของบุคลากรทางด้านการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้สู่การเป็นอาจารย์มืออาชีพใน 3 มิติหลัก 15 มิติย่อย ดังนี้

  • วัตถุประสงค์ของกรอบมาตรฐาน

        1. สนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพในระดับเริ่มต้นและต่อเนื่องทางวิชาชีพของบุคลากรด้านการศึกษาและการสนับสนุนการเรียนรู้

        2. ส่งเสริมกระบวนการพลวัตด้านการเรียนการสอนเพื่อนำไปสู่การคิดริเริ่ม การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่หลากหลายในข้อกำหนดด้านการศึกษาและวิชาชีพ

        3. แสดงถึงความเป็นมืออาชีพของบุคลากรและสถาบันการศึกษาในด้านการสอนและการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

        4. ตระหนักถึงความหลากหลายและคุณภาพของการสอน การเรียนรู้ และการประเมินการปฏิบัติงานที่ส่งเสริมและสนับสนุน การเรียนรู้ของผู้เรียน

        5. อำนวยความสะดวกแก่บุคลากรและสถาบันในการได้รับการรับรองคุณภาพในด้านการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นส่วนความรับผิดชอบที่กว้างขึ้น และอาจรวมถึงการวิจัยและ/หรือการบริหาร

  • องค์ประกอบของ UKPSF (3 มิติหลัก 15 มิติย่อย)

        1) มิติด้านกิจกรรม (Area of Activity, A) คือ การออกแบบและวางแผนกิจกรรมหรือสมรรถนะในการจัดการและสนับสนุนการเรียนรู้ การประเมินการสอน การให้โจทย์แก่นักศึกษาในการเรียน คิด วิเคราะห์อย่างจริงจัง ประกอบด้วย 5 มิติย่อย

            A1 (Design): ออกแบบและวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้และ/หรือโปรแกรมการศึกษา

            A2 (Teach): สอนและ/หรือสนับสนุนการเรียนรู้

            A3 (Assess): ประเมินและให้ข้อมูลการป้อนกลับกับผู้เรียน

            A4 (Develop): พัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลและวิธีการที่สนับสนุนนักศึกษาและการแนะแนว

            A5 (Engage): เข้าร่วมในการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องในด้านรายวิชา/สาขาวิชาและวิทยาการการสอน การวิจัย ความเป็นนักวิชาการ และการประเมินผลการปฏิบัติทางวิชาชีพ

        2) มิติด้านความรู้หลัก (Core Knowledge, K) คือ การมุ่งเน้นให้อาจารย์ผู้สอนมีความรู้ในเนื้อหาอย่างจริงจัง เพื่อให้อาจารย์สอนนักศึกษาได้อย่างถูกต้อง ประกอบด้วย 6 มิติย่อย

            K1 (Subject): สาระรายวิชา

            K2 (Methods): วิธีการที่เหมาะสมสำหรับการสอน การเรียนรู้และการประเมินในสาระรายวิชาและที่ระดับของหลักสูตรวิชาการ

            K3 (Learn): นักศึกษาเรียนรู้อย่างไร ทั้งโดยทั่วไปและภายในสาระของรายวิชา/สาขาวิชา

            K4 (Technologies): การใช้และเห็นคุณค่าของเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่เหมาะสม

            K5 (Evaluation): วิธีการประเมินประสิทธิผลของการสอน

            K6 (Quality Assurances): ความเกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพและการปรับปรุงคุณภาพสำหรับการปฏิบัติทางวิชาการและวิชาชีพเน้นการสอน

        3) มิติด้านค่านิยมทางวิชาชีพ (Professional Values, V) คือ เกณฑ์คุณค่าในการเป็นอาจารย์ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ประกอบด้วย 4 มิติย่อย

            V1 (Respect): คำนึงถึงผู้เรียนเป็นรายบุคคล และความหลากหลายของชุมชนการเรียนรู้

            V2 (Participation): ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการศึกษาระดับอุดมศึกษาและความเท่าเทียมด้านโอกาสของผู้เรียน

            V3 (Evidence-informed): ใช้แนวทางข้อมูลเชิงประจักษ์ และผลลัพธ์จาการวิจัย ความเป็นนักวิชาการและการพัฒนาเชิงวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

            V4 (Acknowledge): ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของระบบอุดมศึกษาในบริบทที่กว้างขวางขึ้น และผลที่ตามมาสำหรับการปฏิบัติเชิงวิชาชีพ เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม

        ทั้งนี้ องค์ประกอบของ UKPSF ทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นลักษณะของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (Active learning) ผ่านวิธีการจัดการเรียนรู้หลากหลายวิธี และมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยบุคลากรทางการศึกษาหรืออาจารย์มืออาชีพที่ได้รับการพัฒนาการสอนตามกรอบมาตรฐานการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา (UKPSF) ทั้งในมิติหลัก 3 มิติ และมิติย่อย 15 มิติดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้สอนมืออาชีพในระดับสากลที่จะต้องสามารถสอนและพัฒนาการสอนของตนให้มีความเชื่อมโยงในแต่ละมิติย่อยของมิติหลัก และมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในทุกมิติหลัก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และบังเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อวิชาชีพและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

(โปรดติดตามอ่านบทความ ตอนที่ 2)


เอกสารอ้างอิง (References)

Advance HE. (2019, 9 October). The UK Professional Standards Framework for teaching and supporting learning in higher education 2011.

      https://www.advance-he.ac.uk/knowledge-hub/uk-professional-standards-framework-ukpsf-2011

บุญทิพย์ สิริธรังศรี. (2563). การจัดการเรียนการสอนออนไลน์สู่กรอบมาตรฐานวิชาชีพการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา. วารสารวิชาการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, 2(3), 1-17.

      https://he02.tci-thaijo.org/index.php/jcra/article/view/241595/164964

วิจิตร ศรีสอ้าน. (2562, มกราคม). ความเป็นครูมืออาชีพระดับอุดมศึกษา [เอกสารบรรยาย]. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, นครศรีธรรมราช.

      https://cte.wu.ac.th/backEnd/myfile/attUKPSF/02-Vijhit.pdf


น.ส.จันทรัตน์ หิรัญกิจรังษี

นักวิเคราะห์นโยบายและแผน

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,497,100 views since 16 August 2018