Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

สงคราม (โรคระบาด) ในประวัติศาสตร์ไทย

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
2,035 เข้าชม
(@jiraporn-karaket)
Eminent Member
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 8
หัวข้อเริ่มต้น  

สงคราม (โรคระบาด) ในประวัติศาสตร์ไทย

ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติต้องเผชิญกับอุบัติภัยหลากหลายรูปแบบ ที่น่ากลัวที่สุดก็คือโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนได้มากมายนับแสนนับล้านคนทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน ทุกวิกฤติก็ทำให้โลกได้เห็นถึงศักยภาพในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ อันนำมาซึ่งวิทยาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้และค้นพบวิธีการรักษาจนมาถึงปัจจุบัน

การ Pandemic ซึ่งวงการแพทย์ให้ความหมายว่า เป็นการเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่ลุกลามเกินกว่าที่คาดไว้ว่าอาจจะจำกัดวงอยู่ในภูมิภาคเดียว เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้หวัดใหญ่ หรือเอชไอวี ซึ่งล้วนเป็นโรคที่สังหารประชากรโลกมากมายในประวัติศาสตร์ บทความนี้จะกล่าวถึงการเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงของไทยตั้งแต่โบราณเพื่อที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจ สามารถเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ในครั้งนี้ ก้าวผ่านและเอาชนะโรคร้ายไปได้เช่นที่ผ่านมา

กาฬโรค พ.ศ.2263 (1720)

กาฬโรค (Plague) เป็นโรคระบาดรุนแรงที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เยอร์ซีเนีย เพสติส” มักจะอาศัยอยู่ในสัตว์ฟันแทะที่มีขนาดเล็ก เช่น หนูและกระรอก ส่วนใหญ่คนจะได้รับเชื้อจากการถูกหมัดหนูกัดและสามารถติดต่อได้ทางเสมหะและการหายใจจากคนหรือสัตว์ที่มีเชื้อนี้ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการตามชื่อที่ถูกเรียกกันว่า “ความตายสีดำ” หรือ “Black Death” กล่าวคือ ตามร่างกายของผู้ป่วยจะมีสีดำคล้ำอันเนื่องมาจากเซลล์ผิวหนังที่ตายไป ในปี 2263 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของยุโรป มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส ส่วนในประเทศไทย กาฬโรคนั้นได้ระบาดมายังประเทศไทยมาก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยผ่านพ่อค้าชาวอินเดียทางฝั่งธนบุรีช่วงปี พ.ศ.2447 โดยเชื่อว่าสาเหตุน่าจะมาจากหนูที่มีเชื้อกาฬโรคผ่านเรือสินค้าจากประเทศอินเดีย จากนั้นก็ระบาดลามไปถึงฝั่งพระนคร และลุกลามไปยังจังหวัดอื่น ๆ ไม่ปรากฏตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อที่แน่ชัด

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2456 มีรายงานว่าเกิดกาฬโรคระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีผู้เสียชีวิต 300 คน และพบครั้งสุดท้ายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2495 มีรายงานผู้ป่วย 2 ราย ตาย 1 ราย ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ จากนั้นไม่มีรายงานกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศไทยจนปัจจุบันนี้

อหิวาตกโรค” ในปี พ.ศ.2363 (1820)

อหิวาตกโรค (Cholera) หรือที่เรียกว่า “โรคห่า” บ้างก็เรียกโรคป่วง บ้างเรียกโรคลงราก สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการรับทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรียที่มีชื่อว่า "วิบริโอ โคเลอรี" จะติดต่อกันทางอ้อมผ่านทางแมลงวันที่ตอมตามอาหารของเรานั่นเอง “โรคห่า” ได้ระบาดไปยังประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยในประทศไทยเกิดขึ้นหลายรอบ เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2363 ที่มีการระบาดจากอินเดีย ก่อนจะเข้ามาไทยผ่านทางปีนัง เข้ามาถึงสมุทรปราการและพระนคร ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2392 ซึ่งการระบาดรอบนี้เค้าเรียกกันว่า ห่าลงปีระกา” อหิวาตกโรคระบาดขึ้นที่กรุงเทพฯ ก่อนจะลุกลามไปจังหวัดอื่น ๆ ในปี พ.ศ.2416 ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 อหิวาตกโรคได้กลับมาระบาดอีกครั้งคนตายเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งในปี 2501 ถึงปี 2502 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนพระราชทานสำหรับป้องกันอหิวาตกโรค ให้กับประชาชนบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนจังหวัดอื่นในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยฉีดวัคซีนตามเสด็จไปให้บริการแก่ประชาชนด้วย

แม้ว่าประเทศไทยในปัจจุบันอหิวาตกโรคจะสงบลงแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องการบริโภคที่ต้องระวังเป็นอันดับแรก อีกทั้งกระบวนการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมายังประเทศไทยต้องมีความเข้มงวดในการตรวจตราและเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ และลดความรุนแรงของการแพร่กระจายภายในประเทศได้อีกด้วย

โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ ในปี พ.ศ.2460-2523

โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงมาก โดยมีอัตราการตายสูงถึง 30% โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า “วาริโอลา เมเจอร์” (ไข้ทรพิษชนิดอ่อน มีความรุนแรงน้อย) “วาริโอลา ไมเนอร์” (ไข้ทรพิษชนิดรุนแรง) เกิดขึ้นครั้งแรกในไทยช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 1967 มีผู้เสียชีวิตจากฝีดาษถึง 15 ล้านคน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย เป็นช่วงที่ทหารญี่ปุ่นขับเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสะพานข้ามแม่น้ำแควเพื่อเข้าสู่รัฐเชียงตุงของพม่า หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของทางรถไฟสายมรณะ เมื่อเหล่าเชลยศึกหลังจากแยกย้ายกลับถิ่นฐานไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย ได้พาโรคฝีดาษไปแพร่ระบาทให้คนอื่น ๆ ครั้งนั้นมีผู้ป่วยมากถึง 63,837 คน เสียชีวิต 15,621 คน แต่ปัจจุบันนี้องค์กรอนามัยโลกได้ออกมาประกาศว่าโรคฝีดาษได้ถูกกวาดล้างไปจากโลกหมดสิ้นแล้วในปี พ.ศ.2523

ไข้หวัดใหญ่สเปน พ.ศ. 2461 (1920)

ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ซึ่งระบาดรุนแรงทั่วโลกระหว่างปี 2461-2463 ถือเป็นการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไข้หวัดใหญ่สเปน เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะทำให้มีผู้ติดเชื้อราว 1 ใน 3 ของประชากรโลกในยุคนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 20-50 ล้านคน ในจำนวนผู้ป่วย 500 ล้านคนที่ติดเชื้อในปี 2461 มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 10-20% และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ล้านคนเฉพาะในช่วง 25 สัปดาห์แรก ในประเทศไทยเชื้อติดมากับทหารอาสาที่กลับมาจากยุโรป เมื่อครั้งไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เมืองเบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส มีอาการที่เรียกว่า "โรคอนิวมูเนีย" หรือนิวมอเนีย (โรคปอดบวม) ในไข้หวัดใหญ่สเปนนอกจากจะมีเชื้อไข้หวัด (influenza) ยังมีโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (bacterial pneumonia) เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งไข้หวัดใหญ่สเปน ระบาดในประเทศไทยอย่างหนัก ในปี พ.ศ.2462 (ค.ศ. 1921) ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปนถึง 80,263 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1.0%

โรคไข้หวัดนก ในปี พ.ศ.2547 (2004)

โรคไข้หวัดนกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนกและสัตว์ปีก เกิดจากเชื้อ เอเวียน อินฟลูเอนซ่า ไวรัส (Avian Influenza virus) เป็นไวรัสในตระกูล อินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด A, B และ C โดยเชื้อไข้หวัดนกนั้นจัดอยู่ในชนิด A โดยปกติจะมีการติดต่อระหว่างนกหรือสัตว์ปีกชนิดต่าง ๆ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เอเวียน อินฟลูเอนซ่า (Avian Influenza) โดยปกติแล้วจะไม่ติดต่อมาสู่คน แต่ในบางครั้งก็พบว่ามีการติดต่อมาสู่คนได้ ซึ่งในอดีตประเทศไทยก็เคยได้รับผลกระทบและเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H1N1 และ H5N1 มาแล้ว ปัจจุบันพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในปี พ.ศ.2547-2549 แต่หลังจากปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมายังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกจนถึงปัจจุบัน

ไข้หวัดใหญ่ 2009 พ.ศ. 2552 (2009)

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) 2009 เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่กลุ่ม เอ (เอช1 เอ็น1) ที่มีรายงานพบเชื้อในคนครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2552 เริ่มแพร่ระบาดในเม็กซิโก และสหรัฐ ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก เชื้อสายพันธุ์นี้มีองค์ประกอบพันธุกรรมที่เป็นผลรวมจากไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และไข้หวัดหมูที่พบในทวีปเอเชีย และยุโรป ทำให้ WHO ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เนื่องจากหวั่นวิตกว่า เชื้อเอช1 เอ็น1 อาจจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น เนื่องด้วยโรคดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว จึงจัดเป็นโรคติดเชื้อที่สำคัญในช่วงเวลานั้น สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) คาดการณ์ว่า โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตประชากรโลกรวมกว่า 280,000 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่ WHO ยืนยันอยู่ที่ไม่ถึง 20,000 คนทั่วโลก

COVID -19 พ.ศ.2563 (2020)

โรคติดต่อปริศนาจากจีน ยืนยันเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2019 ว่าเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีประชากรกว่า 11 ล้านคน โดยหลังจากเก็บตัวอย่างไวรัสจากคนไข้นำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ในเวลาต่อมา จีนและองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ไวรัสชนิดนี้คือ "เชื้อไวรัสโคโรนา" ก่อนหน้านี้ พบไวรัสโคโรนามาแล้ว 6 สายพันธุ์ ที่เคยเกิดการระบาดในมนุษย์ สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ที่ 7 คนไทยรู้จักไวรัสในตระกูลนี้มาแล้วจากโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกัน องค์การอนามัยโลก ประกาศชื่อที่เป็นทางการสำหรับใช้เรียกโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า "โควิด-ไนน์ทีน" (Covid-19) ขณะที่คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอนุกรมวิธานวิทยาของไวรัส (International Committee on Taxonomy of Viruses ) ได้กำหนดให้ใช้ชื่อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค Covid-19 ว่า SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนา โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงชนิดที่สอง (Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2) เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอย่างใกล้ชิดกับเชื้อไวรัสโรคซาร์ส ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ไม่สูงนักคืออยู่ที่ประมาณ 5% อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดได้ และตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลน่าจะทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้นเพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดโรคระบาดใหญ่ระดับโลกและเราก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง รวมทั้งปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก็สูงขึ้นกว่าสมัยก่อนมากมาย รวมทั้ง COVID-19 จริง ๆ แล้วมีความรุนแรงน้อยกว่าบางโรคระบาดที่ผ่านมาในอดีต คือ มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ หลาย ๆ ประเทศก็มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อป้องกันและหยุดการแพร่ระบาดของโรคอย่างจริงจัง ดังนั้นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเคร่งครัด มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อสังคม รักษาสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเราจะได้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันโดยรอดปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราจะเจ็บป่วยขึ้นมาเมื่อไหร่ จึงควรมีสติเพื่อพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์

 

เขียนโดย         จิราภรณ์  การะเกตุ

อ้างอิง

https://www.hfocus.org/content/2020/03/18680

https://www.condotiddoi.com/readarticle.php?articleid=3629

https://www.posttoday.com/world/618205


   
อ้างอิง

ทิ้งคำตอบไว้

ชื่อผู้แต่ง

อีเมลผู้เขียน

ตำแหน่ง *

 
ดูตัวอย่าง แก้ไข 0 ครั้ง บันทึกแล้ว
แบ่งปัน:
1,238,359 views since 16 August 2018