Forum

สาระสำคัญจากงานประช...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

สาระสำคัญจากงานประชุม ITA-MU เรื่อง ความขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม (ตอนที่ 2)

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
270 เข้าชม
(@chantarat-hir)
Active Member
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 6
หัวข้อเริ่มต้น  

สาระสำคัญจากงานประชุม ITA-MU เรื่อง ความขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม (ตอนที่ 2)

 

     สำหรับบทความนี้จะเป็นเนื้อหา “ตอนที่ 2” สืบเนื่องจากบทความ สาระสำคัญจากงานประชุม ITA-MU เรื่อง ความขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม หรือคำที่ใช้ทั่วไปอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน คือ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest: COI) นั่นเอง โดยบทความฯ (ตอนที่ 2) มีรายละเอียดหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

  • รูปแบบของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม

        เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นอาชีพที่ต้องให้บริการสาธารณะและมีโอกาสพบปะผู้คนหลากหลายวาระ การปฏิบัติงานจึงอาจจะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องมีจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนอยู่เสมอ มิฉะนั้นอาจมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

รูปแบบพฤติกรรม

รายละเอียด/ความหมาย

ตัวอย่าง

1)  การรับผลประโยชน์ต่างๆ (Accepting benefits)

การรับสินบน การรับของขวัญหรือของกำนัลหรือผลประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมและมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่

การรับเงิน ของขวัญ ของกำนัล หรือบริการต่าง ๆ จากบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลงานจากภาครัฐ หรือจากผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นลูกค้าของหน่วยงาน ซึ่งมีผลต่อผู้รับของขวัญทำให้มีใจเอนเอียงที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ให้ของขวัญ เช่น บัตรของขวัญ (Gift Voucher) ตั๋วเครื่องบิน ลดค่าธรรมเนียม ฯลฯ

2)  การทำธุรกิจกับตนเอง (Self-dealing)

การใช้อิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงานไปดำเนินการเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว หรือการช่วยเหลือญาติสนิทมิตรสหายจากตำแหน่งหน้าที่

ผู้บริหารของหน่วยงานทำสัญญาจ้างบริษัทของครอบครัวตนเองเป็นเจ้าของมาเป็นที่ปรึกษา หรือทำสัญญาจัดซื้อสินค้าจากบริษัทที่ตนเองมีหุ้นส่วนอยู่ หรือทำสัญญาให้หน่วยงานจัดซื้อที่ดินของตนเองในการสร้างสำนักงานแห่งใหม่

3)  การทำงานหลังจากออกจากตำแหน่ง หรือหลังเกษียณ (Post-employment)

การทำงานให้ผู้อื่นหรือบริษัทเอกชนหลังออกจากหน่วยงานเดิม โดยใช้อิทธิพลหรือความสัมพันธ์ที่มีจากหน่วยงานเดิม หาประโยชน์โดยไม่ชอบธรรม

การใช้อิทธิพลหรือความสัมพันธ์จากที่เคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานนั้นหาประโยชน์จากหน่วยงานหรือไปดำรงตำแหน่งในบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเดิม หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกับที่ตนเองเคยมีอำนาจควบคุม กำกับ ดูแล เช่น การนำนโยบายหรือแผนงานของหน่วยงานเดิมไปช่วยบริษัทใหม่ การใช้อิทธิพลหรือความสัมพันธ์ประสานงานจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์จากหน่วยงานเดิมอย่างราบรื่น ฯลฯ

4)  การทำงานพิเศษ (Outside employment or moonlighting)

การเปิดบริษัทดำเนินการหากินซ้อนกับหน่วยงานที่ตนเองทำงาน หรือการรับงานส่วนตัวจนไม่มีเวลาทางานประจำ หรือการรับจ้างพิเศษเป็นที่ปรึกษาโครงการให้กับบริษัทหรือหน่วยงานอื่น โดยอาศัยความน่าเชื่อถือในตำแหน่ง

-  การรับจ้างเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยอาศัยตำแหน่งในราชการสร้างความน่าเชื่อถือว่าโครงการของผู้ว่าจ้างจะไม่มีปัญหาติดขัด ในการพิจารณาจากหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ เช่น เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชี (ผู้ตรวจสอบบัญชีของรัฐ) รับงานเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นผู้ทำบัญชีให้กับบริษัทที่ต้องถูกตรวจสอบบัญชี

-  การเบียดบังเวลาและรายได้ในเวลาราชการไปเป็นของตนเอง เช่น ครูที่สอนไม่เต็มที่ในเวลาราชการ และต้องการให้นักเรียนไปเรียนพิเศษกับตนนอกเวลาราชการ อาจารย์เลื่อนเวลาสอนหนังสือโดยต้องไปร่วมประชุมกับบริษัทที่รับเป็นที่ปรึกษา ฯลฯ

5)  การรู้ข้อมูลภายใน (Inside information)

การใช้ประโยชน์จากที่ตนเองรับรู้ข้อมูลภายในหน่วยงานที่สังกัด และนำข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง

ผู้บริหารของหน่วยงานรู้ข้อมูลภายในโครงการก่อสร้างถนนแล้วตนเองหรือให้เครือญาติไปกว้านซื้อที่ดินตามแนวถนนตัดผ่านไว้ล่วงหน้า เพื่อมาขายเก็งกำไรให้กับกับหน่วยงานรัฐในราคาที่สูงขึ้น หรือเจ้าหน้าที่พัสดุของหน่วยงานเปิดเผยหรือขายข้อมูลที่สำคัญของฝ่ายที่มายื่นประมูลไว้ก่อนหน้าให้แก่ผู้ประมูลรายอื่นที่ให้ผลประโยชน์ ทำให้ฝ่ายที่มายื่นประมูลไว้ก่อนหน้าเสียเปรียบ

6)  การใช้ทรัพย์สินของราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว (Using your employer’s property for private advantage)

การนำทรัพย์สินของหน่วยงาน ซึ่งจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเท่านั้น นำไปใช้ส่วนตัวหรือพวกพ้อง

การนำวัสดุครุภัณฑ์ของหน่วยงานมาใช้ที่บ้าน หรือใช้โทรศัพท์ของหน่วยงานติดต่อธุระส่วนตัว หรือนำรถยนต์ราชการไปใช้ธุระส่วนตน หรือนำน้ำมันของราชการมาเติมรถยนต์ส่วนตน หรือนำรถส่วนตนมาล้างที่หน่วยงาน

7)  การนำโครงการสาธารณะลงในเขตเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง (Pork-barreling)

การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้บริหารระดับสูง อนุมัติโครงการไปลงพื้นที่ของตนเอง หรือการใช้งบประมาณสาธารณะเพื่อหาเสียง

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอนุมัติโครงการลงในพื้นที่เขตเลือกตั้งหรือบ้านเกิดตนเอง หรือการใช้งบสาธารณะเพื่อหาเสียง หรือการใส่ชื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแสดงความเป็นเจ้าของสิ่งสาธารณะ

8)  การใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง (Nepotism)

การใช้อิทธิพลหรือใช้อำนาจหน้าที่ทำให้หน่วยงานของตนเข้าทำสัญญากับบริษัทของญาตืพี่น้อง หรือพวกพ้อง

ผู้บริหารระดับสูงใช้อิทธิผลของอำนาจหน้าที่ที่ตนเองดำรงตำแหน่งอยู่ ฝากลูกหลานของเครือญาติ และลูกหลานของเพื่อน ๆ ที่เคยเรียนด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ เข้าทางานในหน่วยงานที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลอยู่

9)  การใช้อิทธิพลเข้าไปมีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐอื่น (Influence)

การใช้ตำแหน่งหน้าที่ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้หยุดการตรวจสอบบริษัทเครือญาติ หรือพวกพ้อง

ผู้บริหารระดับสูงใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ที่ตนเองดำรงอยู่ ข่มขู่ผู้ใต้บังบัญชา (เช่น เจ้าหน้าที่นิติกร) ให้หยุดดำเนินคดีกับเครือญาติหรือพวกพ้องของตนเอง

  • ความแตกต่างระหว่างผลประโยชน์ทับซ้อนกับการทุจริตต่อหน้าที่

ประเภท

ผลประโยชน์ทับซ้อน

การทุจริตต่อหน้าที่

        สถานะ

-  เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

-  ผู้พ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การทำงานหลังเกษียณ (Post-employment)

-  เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

        อำนาจหน้าที่

-  กรณีมีอำนาจหน้าที่ เช่น การเป็นคู่สัญญา (Contracts)

-  กรณีที่ไม่ต้องมีอำนาจหน้าที่ เช่น การรับประโยชน์ต่าง ๆ (Accepting benefits)

-  ต้องมีหรือใช้อำนาจหน้าที่

        ประโยชน์

-  ตนเอง และ/หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ (Self-dealing)

-  ตนเอง และ/หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ (Self-dealing)

        เจตนาทุจริต

-  มีเจตนา หรือไม่มีเจตนาทุจริตก็ได้

-  มีเจตนาทุจริต

 


เอกสารอ้างอิง (References)

  1. การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่. (2562). มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมของการประปาส่วนภูมิภาค ปี 2562. กรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.pwa.co.th/support-units/conflict-of-interest
  2. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (มีนาคม 2563). คู่มือการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันความขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม. กรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567, จาก  http://docs.nhrc.or.th/uploads/ 65268-110563.pdf
  3. อุทิศ บัวศรี. (พฤศจิกายน 2556). การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม. เอกสารประกอบการบรรยายการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการกำกับติดตามการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566, นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. (อัดสำเนา).

น.ส.จันทรัตน์ หิรัญกิจรังษี

นักวิเคราะห์นโยบายและแผน

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,378,738 views since 16 August 2018