ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับ “สาววาย” ซึ่งเป็นแนวการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การ์ตูนวายแท้จริงแล้วมีมานาน แต่จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้อ่านบางกลุ่ม ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศเปิดกว้างขึ้น คนที่สนใจสื่อประเภทนี้มีการสื่อสารกันมากขึ้น จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความเป็น “กระแส”
คำว่า “วาย” มาจากชื่อ ยะโอะอิ (Yaoi) ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นการ์ตูนแนวชายรักชาย แต่จะพบว่าการ์ตูนแนววาย อาจเป็นหญิงรักหญิงได้เหมือนกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ อัตลักษณ์ทางเพศของผู้เสพสื่อวายอาจไม่ได้เหมือนในการ์ตูนวายเสมอไป จะเห็นได้จากคอมเม้นบนเวบต่างๆ ที่มีผู้อ่านการ์ตูนแนววายพูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองที่ยังชอบเพศตรงข้ามอยู่ การยอมรับจากสังคมที่ไม่ตีตราว่าคนที่ชื่นชอบวาย จะเป็นสาววายด้วย อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสวายเริ่มมีคนติดตามอย่างเปิดเผยมากขึ้น
นิยายวาย จะมีคำเฉพาะที่ใช้เรียกตัวละครเอกว่า “เคะกับเมะ” มาจากคำว่า อุเคะ (Uke) และ เซะเมะ (Seme) ซึ่ง เคะ คือ ชายที่ดูนุ่มนวล อ่อนหวาน บอบบาง ส่วน เมะ จะเป็นชายที่ดูแข็งแรง บึกบึน สามารถปกป้องเคะได้ การสร้างคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันของตัวเอก แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ตรงข้าม และยังคล้ายกับลักษณะของชายและหญิงจริงๆ จึงอาจพูดได้ว่านิยายวายยังคงมองอัตลักษณ์ทางเพศ (ที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละคร) เป็นลักษณะของการรักข้ามเพศอยู่ดี จึงไม่แปลกที่ผู้เสพสื่อจะมีรสนิยมทางเพศหลากหลายแบบ
การนำเสนอเนื้อเรื่องที่แปลกใหม่และตัวละครที่สวยงาม น่าดึงดูดใจ น่าจะเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสชื่นชอบการ์ตูนแนววาย เพราะทำให้ผู้เสพสื่อรู้สึกเต็มอิ่ม และได้อรรถรสมากกว่าการอ่านนิยายตัวหนังสือ แต่การเกิดกระแสวาย คงไม่ได้มาจากการ์ตูนเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันช่องทางในการเผยแพร่สื่อบันเทิงมีมากมายหลากหลาย ไม่ต้องอาศัยโฆษณาแพงๆ การผลิตสื่อวายจึงมีมากขึ้น โดยเฉพาะซีรี่ย์ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สนใจใหม่ๆ สามารถเข้ามาเลือกดูและติดตามได้ และเมื่อเรื่องใดได้รับความนิยมก็จะมีบริษัทใหญ่หยิบขึ้นมาสร้างเป็นละคร/หนัง ทำให้การ์ตูนวายมีโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นกระแสเด่นในสื่อบันเทิงไทยอีกสื่อหนึ่ง
เรื่องโดย ดร.สุทธิพร สัจพันโรจน์