Forum

สิทธิพิเศษที่จะหายไ...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

สิทธิพิเศษที่จะหายไปเมื่อจบการศึกษา

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
195 เข้าชม
(@anuwat)
Eminent Member
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 21
หัวข้อเริ่มต้น  

Hare และ Evanson (2018) ประเมินความเข้าใจของนักศึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูล โดยให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 อ่านกรณีศึกษาหลายกรณีเกี่ยวกับนักวิจัย หนึ่งในกรณีศึกษาดังกล่าวกล่าวถึงนักเล่าเรื่องผ่านวีดิทัศน์ (vlogger) คนหนึ่งที่พบบทความที่เป็นประโยชน์แต่ตัดสินใจไปใช้แหล่งข้อมูลอื่นแทนเนื่องจากบทความนั้นมีค่าใช้จ่าย ร้อยละ 38 ของนักศึกษา 329 คนที่อภิปรายเกี่ยวกับนักเล่าเรื่อง กล่าวถึงการจ่ายเงิน เงิน หรือราคาของข้อมูล ร้อยละ 11 ระบุว่าเป็นการตัดสินใจแย่ ๆ หลายคนกล่าวว่า "แทนที่จะจ่ายเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่เขาสามารถเผยแพร่ต่อได้อย่างปลอดภัย กลับพยายามยัดข้อมูลที่ไปกันได้ไม่ดีกับสิ่งที่ต้องการจะนำเสนอ" นักศึกษา 4 คนระบุอย่างชัดเจนว่านักเล่าเรื่องคนนั้นเกียจคร้าน นักศึกษาคนหนึ่งถึงกับบอกว่า "กล้า ๆ หน่อยแล้วจ่ายเงินไปซะ"

ผู้ประเมินกล่าวว่าผลการประเมินข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนบางอย่างเป็นผลสืบเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าและคิดว่าทุกคนมีเงินซื้อข้อมูลได้เสมอ นักศึกษาบางคนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลผ่านห้องสมุด การให้บริการข้อมูลโดยมีค่าใช้จ่าย และความน่าเชื่อถือ เช่น วิจารณ์นักเล่าเรื่องว่าไม่รู้ว่าบทความนั้นอาจมีให้อ่านได้แบบฟรี ๆ ใน Google Scholar หรือเว็บไซต์อื่น หรือคิดว่าทุกคนสามารถสืบค้นฐานข้อมูลห้องสมุดหรือใช้สิ่งพิมพ์ของห้องสมุดได้

ผู้ประเมินจึงจัดกิจกรรมขึ้น 3 กิจกรรม กิจกรรมแรกเป็นการเสวนาเกี่ยวกับมิติทางจริยธรรมของการเข้าถึงข้อมูล โดยให้ผู้ฟังพิจารณาว่าการที่ผู้ฟังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้นั้นมีผลต่อทัศนคติที่มีต่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างผิดกฎหมายอย่างไร จากนั้นนำเสนอมุมมองของอาจารย์ต่อการตีพิมพ์บทความในวารสารที่เปิดให้อ่านฟรี (open access) ว่าอาจทำให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะในขณะที่ยังไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ จากนั้นเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับสิทธิพิเศษด้านข้อมูลของนักศึกษาโดยมีการยกข้อความจากการประเมินมาประกอบ การเสวนาปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามต่อผู้ฟังว่าจะแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูลนี้อย่างไร บันทึกการเสวนานี้สามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lTOs-us6eLY

กิจกรรมที่สองเป็นการแนะนำแหล่งข้อมูลที่นักศึกษาจะสามารถเข้าใช้ได้หลังจบการศึกษา และให้นักศึกษาระบุข้อดีข้อเสียของการเปิดให้เข้าถึงผลงานได้อย่างเสรี จากนั้นแบ่งกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมย่อยตามความสนใจดังนี้ กิจกรรมแนววิชาการให้นักศึกษาเปรียบเทียบข้อตกลงลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดกับข้อตกลงที่เปิดกว้างมากกว่าแล้วลองเรียบเรียงข้อความสำหรับเจรจากับสำนักพิมพ์ กิจกรรมแนวทั่วไปให้นักศึกษาอ่านข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทแล้วสรุปว่ามีสิทธิ์ทำอะไรกับผลงานที่ตนเองทำขึ้นในขณะที่เป็นพนักงานบ้าง กิจกรรมแนวสร้างสรรค์ให้นักศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิ์การใช้งานแบบ Creative Commons แล้วนำมาใช้กับงานสร้างสรรค์เพื่อทำให้ผู้อื่นสามารถนำงานนั้นไปใช้ประโยชน์ได้

กิจกรรมสุดท้ายเป็นสถานการณ์สมมติแบบให้เลือก (choose-your-own-adventure) โดยจำลองสถานการณ์ของนักเล่าเรื่องที่เคยใช้ในการประเมิน นักศึกษาจะต้องพบกับอุปสรรคมากมายทั้งการจำกัดการเข้าถึงบทความใน The New York Times การให้บริการบทความแบบมีค่าใช้จ่ายผ่าน Google Scholar และเวลาทำการที่จำกัดของห้องสมุดในช่วงสุดสัปดาห์ ในตอนจบนักศึกษาจะถูกบีบให้ล้มเลิกและพบกับข้อความแรง ๆ ของเพื่อนนักศึกษาที่ยกมาจากการประเมิน นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายคนไม่รู้มาก่อนว่าตนเองจะไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้หลังจบการศึกษาและอึ้งกับราคาของข้อมูลที่สูงลิ่ว

"นักศึกษาปริญญาตรีคือนักวิจัยและนักวิชาการในอนาคต เราไม่สามารถแก้ไขระบบการสื่อสารทางวิชาการในปัจจุบันหรือความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูลได้หากปราศจากพวกเขา หนทางหนึ่งที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้คือทำให้นักศึกษาตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิพิเศษด้านข้อมูล การเข้าถึงของพวกเขาเองในอนาคต และการที่การตัดสินใจของพวกเขาจะมีผลต่อการเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่นอย่างไร"

บทความเรื่อง Information privilege outreach for undergraduate students โดย Sarah Hare และ Cara Evanson เป็นบทความที่เปิดให้อ่านฟรี และอนุญาตให้ใช้ภายใต้เงื่อนไข Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International สามารถอ่านได้ที่ https://doi.org/10.5860/crl.79.6.726


   
อ้างอิง

ทิ้งคำตอบไว้

ชื่อผู้แต่ง

อีเมลผู้เขียน

ตำแหน่ง *

 
ดูตัวอย่าง แก้ไข 0 ครั้ง บันทึกแล้ว
แบ่งปัน:
1,257,903 views since 16 August 2018