ในปัจจุบันการวิ่งมาราธอนถือเป็นกีฬายอดฮิตในหมู่ผู้รักสุขภาพที่หันมาออกกำลังกายด้วยกีฬาประเภทวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิ่งฟันรัน ( Fun run) หรือที่เรียกกันว่า เดิน วิ่งเพื่อการกุศล ระยะทาง 3.5 - 5 กิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายใหม่ๆ มินิฮาล์ฟ มาราธอน (Mini half marathon) ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ฮาล์ฟ มาราธอน (Half marathon) ระยะทาง 21.1 กิโลเมตร มาราธอน (Marathon) ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร เป็นระยะทางมาตรฐานที่จัดแข่งขันระดับนานาชาติทั่วโลก ซึ่งนักวิ่งระยะนี้ก็จะมีทั้งนักวิ่งสมัครเล่น และนักวิ่งอาชีพ ผู้วิ่งควรฝึกฝนเตรียมความพร้อมให้ดีและควรผ่านการตรวจสุขภาพมาก่อน สุดท้ายการวิ่งประเภทอัลตร้า มาราธอน (Ultra marathon) ระยะทางมากกว่า 42.195 กิโลเมตร นักวิ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แข็งแกร่งผ่านสนามวิ่งมาอย่างโชกโชน ซึ่งการวิ่งแต่ละประเภทหากนักวิ่งขาดการเตรียมความพร้อมของร่างกายที่ดีและเหมาะสม ก็อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้เช่นกัน
- สาเหตุของการบาดเจ็บ จากการวิ่งนั้นมีช่วงที่ร่างกายลอยอยู่กลางอากาศ ส่งผลให้ตอนที่ลงมาปะทะกับพื้น เท้า-เข่า-ต้นขา-สะโพกต้องรับแรงกระแทกมาก โอกาสบาดเจ็บก็มากขึ้นตามไปด้วย อาการบาดเจ็บมี 5 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 1) เอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านข้างอักเสบ 2) โรคเข่าของนักวิ่ง (runner’s knee) 3) อาการปวดหน้าแข้ง (shin splints) 4) เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles tendinitis) 5) รองช้ำ (plantar fasciitis)
- กลุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ 5 ตำแหน่ง ได้แก่ นักเริ่มวิ่ง นักวิ่งที่เพิ่มความเร็วหรือระยะทางในการวิ่งอย่างรวดเร็ว รวมถึงนักวิ่งที่เคยได้รับบาดเจ็บมาก่อน วิ่งมากกว่า 65 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ และผู้หญิงที่มีมวลกระดูกต่ำ
- วิธีการป้องกันการบาดเจ็บ คือ นักเริ่มวิ่งควรเริ่มต้นช้าๆ และเพิ่มระยะเวลากับระยะทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควรมีวันพัก 1-2 วันต่อสัปดาห์ เลือกรองเท้าที่รองรับการสวมใส่สบาย เลือกพื้นผิวทางวิ่งที่ยืดหยุ่น ที่สำคัญอย่าลืมยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังวิ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://themomentum.co/running-injuries/
เรื่องโดย นางสาวจิราภรณ์ การะเกตุ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล