Academic Reading Format International Study (ARFIS) รวบรวมข้อมูลจากนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 21,266 คน จาก 33 ประเทศ เกี่ยวกับรูปแบบของสื่อการอ่านทางวิชาการว่าชอบอ่านสื่อกระดาษหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ร้อยละ 71.06 ชอบสื่อกระดาษ สาเหตุที่ชอบ ร้อยละ 29 เพราะสามารถเน้นข้อความและจดบันทึกได้ง่าย ร้อยละ 22.4 เพราะสิ่งรบกวนน้อย เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ร้อยละ 17.8 เพราะไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์เสริม และร้อยละ 11 เพราะไม่ค่อยปวดตาหรือปวดหัว นักศึกษาที่ชอบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 8.67 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด (ที่เหลือร้อยละ 20.27 เป็นกลาง) ร้อยละ 34 ชอบเพราะสามารถรวบรวมและจัดการสื่อหลายรายการในอุปกรณ์เดียว และร้อยละ 14.3 เพราะสามารถค้นหาข้อมูลได้โดยง่าย เชื่อมโยงไปยังสื่ออื่นแบบออนไลน์ได้ คัดลอกและจดบันทึกได้
อย่างไรก็ดี นักศึกษาที่ชอบสื่อกระดาษบางครั้งอาจเลือกอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับเวลา ความสะดวก และค่าใช้จ่าย หรือเพราะมีความยาวไม่มากและไม่ใช่เรื่องสำคัญ ส่วนนักศึกษาที่ชอบสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะเลือกอ่านสื่อกระดาษถ้าสื่อนั้นคือตำราเรียน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ไม่คมชัด
อนึ่ง ประมาณร้อยละ 70 ของนักศึกษาที่ชอบสื่อกระดาษเป็นหญิง ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ผลการสำรวจเป็นอย่างที่กล่าวหากเพศมีผลต่อความชอบ นอกจากนี้ ร้อยละของนักศึกษาระดับปริญญาตรีในกลุ่มที่ชอบสื่อกระดาษ (79.1) ยังมากกว่าในกลุ่มที่ชอบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (68.3) ซึ่งอาจส่งผลในทำนองเดียวกัน
บทความเรื่อง Beyond the surveys: Qualitative analysis from the Academic Reading Format International Study (ARFIS) โดย Diane Mizrachi และ Alicia M. Salaz (2020) เป็นบทความที่เปิดให้อ่านฟรี และอนุญาตให้ใช้ภายใต้เงื่อนไข Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International สามารถอ่านได้ที่ https://doi.org/10.5860/crl.81.5.808