เขียนงานวิชาการอย่างไรให้ไม่โดนข้อหาคัดลอกวรรณกรรม Plagiarism!
โดยการคัดลอกวรรณกรรมมี 2 ประเภทหลัก ได้แก่ (1) การนำข้อความของผู้อื่นไปใช้อย่างไม่เหมาะสม และ (2) การนำไอเดียแนวคิดของผู้อื่นไปใช้อย่างไม่เหมาะสม โดยการนำคำพูดหรือแนวคิดของผู้อื่นมาใช้อย่างไม่เหมาะสมนี้ เช่น การนำไปใช้แต่ไม่ให้เครดิตหรือไม่มีการอ้างอิง นำไปใช้โดยเปลี่ยนแปลงคำแต่โครงสร้างประโยคหลักยังคงอยู่ หรืออ้างอิงในรูปแบบที่ไม่ถูกต้องตามแนวทางของสากล สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการคัดลอกวรรณกรรม หรือ Plagiarism โดยผู้เขียนงานวิจัยควรศึกษารายละเอียดการคัดลอกทางวรรณกรรมทั้ง 2 ประเภท เพื่อระมัดระวังไม่ให้การกระทำของเราเข้าข่ายคัดลอกวรรณกรรม ดังนี้
1. การคัดลอกคำ วลี ประโยค หรือข้อความ (Word Plagiarism)
การคัดลอกวรรณกรรมประเภทนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณใช้คำ วลี หรือประโยคข้อความจากงานของผู้เขียนคนอื่นโดยไม่ใส่เครื่องหมายคำพูด (Quotation Marks “ ”) ดังนั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการคัดลอกวรรณกรรมประเภทการคัดลอกข้อความ ได้แก่
- พยายามสรุปความเป็นภาษาของตนเองมากกว่าการคัดลอกคำโดยตรง (ใช้การ Paraphrase) ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจและผสมผสานแนวคิดเข้ากับบริบทของงานเขียนของตนเองได้ดีกว่า
- หากต้องการใช้ประโยคจากงานเขียนของผู้อื่น ให้ใช้เครื่องหมายคำพูดโดยตรง (direct quotes) และควรใช้ direct quotes อย่างจำกัด รวมถึงใช้ในเฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องถ่ายทอดสิ่งที่เจ้าของผลงานท่านนั้นพูดรวมถึงวิธีการพูดของเจ้าของงานนั้น เท่านั้น
- หากคุณมีการใช้คำจากงานเขียนตนเองโดยตรง ซึ่งแม้จะเป็นผลงานเก่าของตนเองก็ตาม แต่ยังคงต้องใส่เครื่องหมายคำพูดพร้อมการอ้างอิงในเนื้อหาเสมอ (in-text citation)
- การคัดลอกวรรณกรรมที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือการคัดลอกคำของผู้เขียนโดยตรงโดยไม่ใส่เครื่องหมายคำพูดหรือการอ้างอิงใด ๆ ในเนื้อหาเลย
- รูปแบบที่พบบ่อยของ Word plagiarism คือ การคัดลอกคำของผู้เขียนพร้อมใส่เฉพาะการอ้างอิงในเนื้อหาเท่านั้น แต่ไม่ได้ใส่เครื่องหมายคำพูด ซึ่งแม้จะเป็นการให้เครดิตแก่ไอเดียของผู้เขียนแล้วก็ตาม แต่ถือว่าไม่ให้เครดิตในส่วนของการใช้คำหรือประโยคของผู้เขียน ดังนั้น หากต้องการใช้คำหรือประโยคที่มาจากงานเขียนของคนอื่นโดยตรง ผู้เขียนต้องใส่เครื่องหมาย Quotation marks และ in-text citation เสมอ
- การคัดลอกคำอีกแบบที่พบบ่อยคือการคิดว่าการเปลี่ยนบางคำหรือใช้คำพ้องหมายถึงการสรุปใหม่แล้ว (คิดว่าทำ Paraphrasing แล้ว) ทั้ง ๆ ที่ยังมีโครงสร้างประโยคหรือการใช้คำของผู้เขียนเดิมอยู่ แต่เราแค่เติมหรือลบเปลี่ยนแปลงคำแค่บางคำเท่านั้น การกระทำแบบนี้เรียกว่า “การเขียนปะติดคำ (Patchwriting)” ซึ่งถือว่าเป็นการคัดลอกทางวรรณกรรมเช่นกัน
แนวทางการหลีกเลี่ยง Word Plagiarism:
- ให้อ่านงานและเขียนสรุปด้วยคำหรือภาษาของตนเอง พร้อมการอ้างอิงที่ถูกต้องและเหมาะสม
- อย่าคัดลอกคำของผู้เขียนโดยตรง ถ้าจำเป็นต้องใช้ ให้ใส่เครื่องหมายคำพูดและอ้างอิงแหล่งที่มาให้ถูกต้อง
- ในการเขียนงานของตนเอง ต้องให้เครดิตแก่ทุกความคิด ข้อเท็จจริง หรือข้อค้นพบที่นำมาจากการทบทวนวรรณกรรมของผู้อื่น
____________________________________________________________________
2. การคัดลอกแนวคิดของผู้อื่น (Idea Plagiarism)
การคัดลอกแนวคิดจะเกิดขึ้นเมื่อคุณนำแนวคิดจากแหล่งอื่นมาใช้โดยไม่อ้างอิงชื่อผู้เขียนและปีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูล โดยสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการคัดลอกวรรณกรรมประเภทนี้ ได้แก่
- ทุกครั้งที่คุณเขียนงานมี่เกี่ยวกับแนวคิด (idea) หลักการต่าง ๆ หากไม่ใส่อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น แสดงว่าคุณกำลังอ้างว่าแนวคิดต่าง ๆ เหล่านั้นมาจากตัวของคุณเอง ซึ่งถ้าคุณไม่ได้คิดหรือสังเคราะห์ขึ้นเองแล้วไม่ใส่ที่มา นั่นถือว่าเป็นการคัดลอกแนวคิดมาจากผู้อื่น ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างโจ่งแจ้งที่สุดคือเมื่อได้รับไอเดียหรือแนวคิดดี ๆ ที่เห็นจากคนอื่น แล้วนำมาเขียนโดยที่ไม่ให้เครดิตแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น
- รูปแบบที่พบบ่อยคือการอ้างอิงผิด เช่น ในการเขียน paragraph ทั้ง paragraph แล้วใส่อ้างอิงแค่ท้ายย่อหน้า ทั้ง ๆ ที่ควรใส่ตั้งแต่ต้น เพื่อระบุว่าแนวคิดมาจากใคร หรือการนำข้อมูลที่ได้ยินจากที่ใดที่หนึ่ง เช่น จากชั้นเรียนหรือได้ยินจากที่อื่นมาใช้ โดยไม่ได้มีการอ้างอิง เพราะคิดว่าเป็นความรู้ทั่ว ๆ ไปอยู่แล้ว
แนวทางการหลีกเลี่ยง Idea Plagiarism:
- ใช้คำแสดงความคิดส่วนตัว เช่น “ผู้เขียนเชื่อว่า... (I believe that)” เพื่อบอกว่าแนวคิดนั้นเป็นของคุณ
- ถ้าไม่ใช่แนวคิดของคุณ ให้ใส่อ้างอิงแหล่งที่มาในเนื้อหาเสมอ
- ค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและใส่อ้างอิงแหล่งที่มาในเนื้อหาเสมอ
*สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอ้างอิงในเนื้อหาและการใช้แหล่งข้อมูลได้จาก Chapter 8 ของ Publication manual of the American Psychological Association (7th ed.) และจากเว็บไซต์ APA Style
แหล่งอ้างอิง
• https://apastyle.apa.org/instructional-aids/handouts-guides
• American Psychological Association. (2020). Publication manual of the American Psychological Association (7th ed.). https://doi.org/10.1037/0000165-000