Forum

ไอโอดีน สารอาหารที่...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

ไอโอดีน สารอาหารที่จำเป็นกับพัฒนาการของเด็กในครรภ์

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
438 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 7 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

            เมื่อกล่าวถึงสารอาหารที่จำเป็นในร่างกายมนุษย์ คนเรามักจะนึกถึงสารอาหาร 5 หมู่ ได้แก่ ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและแร่ธาตุสำคัญๆ เป็นต้น แล้วไอโอดีนคืออะไร ?? จำเป็นหรือไม่ ?? คำตอบคือ ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุสําคัญสําหรับร่างกายของเรา ระบบการทํางานของร่างกายบางส่วนจําเป็นต้องใช้ไอโอดีนในการควบคุมการทํางาน ถึงแม้ว่าร่างกายจะใช้ไอโอดีนในปริมาณน้อย แต่หากบริโภคไม่เพียงพอก็อาจส่งผลต่อการดําเนินชีวิตได้ อีกทั้ง ร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง จะได้รับก็ต่อเมื่อบริโภคอาหารเข้าไปเท่านั้น ซึ่ง ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในปริมาณที่เพียงพอในการดำรงชีวิต ไอโอดีน ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นแร่ธาตุสำคัญในการสร้างไธรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาทางสติปัญญา ร่างกาย และควบคุมระบบการเผาผลาญอาหารของร่างกาย แม้ก่อนที่เด็กทารกจะเกิด สมองของเด็กก็จำเป็นที่จะต้องได้รับไอโอดีนเพื่อพัฒนาเครือข่ายของระบบเซลประสาทให้สามารถเชื่อมโยงได้อย่างหนาแน่น หากปราศจากสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ การเชื่อมโยงของระบบประสาทนี้จะไม่หนาแน่น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความสามารถทางสติปัญญาของเด็กไปตลอดชีวิตได้ ระดับสติปัญญา (ไอคิว) โดยเฉลี่ยในกลุ่มประชากรที่ได้รับสารไอโอดีนอย่างไม่เพียงพออาจต่ำกว่า ประชากรที่ได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอได้ถึง 10-15 จุด เนื่องจากไอโอดีนเป็นธาตุเคมีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติแต่มีการกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอ และมีมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ในภาคเหนือ ภาคอีสาน พบปริมาณไอโอดีนในธรรมชาติน้อยกว่า ภาคกลาง ส่วนใหญ่พบมากในดินและน้ำแถบที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ชายทะเล และทะเล อาหารที่มีปริมาณไอโอดีนสูง ได้แก่ พืชผักและสัตว์จากทะเลทุกชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่ายทะเล เป็นต้น

          โรคขาดสารไอโอดีนเคยถูกมองว่าเป็นปัญหาทางด้านร่างกายเท่านั้น เพราะผลกระทบเพียงแค่ทำให้เป็นต่อมไธรอยด์โต (โรคคอพอก) แต่ปัจจุบันโรคขาดสารไอโอดีนได้รับการยอมรับว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทมากที่สุดจากภาวะการขาดสารไอโอดีนทั้งหมด นับตั้งแต่พัฒนาการทางสมองและร่างกายต่ำ โรคเอ๋อและโรคคอพอก การขาดสารไอโอดีนเพียงเล็กน้อยในกลุ่มประชากรทั่วไปอาจส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อความสามารถในการเรียนรู้และระดับสติปัญญาของมนุษย์ (ไอคิว) ที่อาจถดถอยอย่างรุนแรงได้ การขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้ตัวอ่อนมีพัฒนาการช้า ทั้งยังอาจทำให้เกิดการแท้งทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์และปัญหาอื่นๆ นอกจากนั้นผลกระทบของโรคขาดสารไอโอดีนยังทำให้เกิดโรคเอ๋อ ผลการเรียนไม่ดี สติปัญญาต่ำ สำหรับในผู้ใหญ่จะทำให้ทำงานได้น้อยกว่าที่ควร โดยปริมาณไอโอดีนที่ควรได้รับในแต่ละวัน สำหรับผู้ใหญ่ ไม่ควรเกิน 150 ไมโครกรัมต่อวัน ในเด็ก 90-120 ไมโครกรัมต่อวัน ในหญิงมีครรภ์ ต้องการ 250 ไมโครกรัมต่อวัน และในหญิงให้นมบุตรต้องการ 220 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งต้องควบคุมปริมาณสารไอโอดีนที่ได้รับในแต่ละวันให้เหมาะสม หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปโดยคนปกติสามารถขับไอโอดีนที่ได้รับเกินความต้องการของร่างกายออกทางปัสสาวะได้ สําหรับคนสูงอายุ คนที่เป็นโรคคอพอก โรคไทรอยด์เป็นพิษ หากได้รับไอโอดีนมากเกินไปจะทําให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง หรืออาจเสียชีวิตได้ ซึ่งอาการเบื้องต้นของการได้รับไอโอดีนมากเกินไปจะมีอาการใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ เครียด เป็นต้น

การตรวจวัดปริมาณสารไอโอดีนในผลิตภัณฑ์อาหารที่บริโภคจึงสำคัญ ซึ่งมีวิธีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไอโอดีนในผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนี้

1) การตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น สำหรับการวิเคราะห์ ปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภค โดยผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือศูนย์อนามัย สามารถจัดหาและใช้ชุดทดสอบ I-kit ในการเฝ้าระวังได้ด้วยตนเองตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป

2) การวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ มีดังนี้

2.1 วิธีการไทเทรชั่น (Titration) สำหรับการ วิเคราะห์ปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภค สามารถส่งตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง หรือห้องปฏิบัติการที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ความเห็นชอบ

2.2 วิธีสเปกโตรโฟโตเมทรีแบบ ICP-MS สำหรับ วิเคราะห์ปริมาณไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ โดยสามารถส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง ซึ่งสามารถดำเนินการตรวจได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้สามารถสอบถาม รายละเอียดเพื่อเติมได้ที่สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

           ซึ่งในปัจจุบันทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญจากปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประชากรทุกระดับ ได้ออกเป็นมาตราการทางกฎหมายกำหนดให้เกลือบริโภคและเกลือที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ต้องมีไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อเกลือ 1 กิโลกรัม และน้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหารและเครื่องปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง เช่น ซอส ซีอิ๊ว ต้องมีไอโอดีน 2-3 มิลลิกรัมต่อผลิตภัณฑ์ 1 ลิตร จากมาตราการป้องกันดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารบริโภคเสริมไอโอดีนให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับสารไอโอดีนที่เพียงพอ และส่งเสริมทางด้านสาธารณสุขหมู่บ้านให้มีการรณรงค์ตรวจวัดปริมาณไอโอเดทในเกลือเสริมไอโอดีนเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดปัญหาภาวะโรคขาดสารไอโอดีนในประชากรทุกเพศทุกวัย จึงควรหันมาสนใจและใส่ใจในการดูแลสุขภาพตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรให้ความสำคัญในการบริโภคสารอาหารจำเป็นต่างๆ ที่ร่างกายควรได้รับมากยิ่งขึ้น

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :
http://www.dmsc.moph.go.th/dmscnew/service.php
https://db.oryor.com/databank/data/printing//540120_Factsheet__%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%99%E0%B8%B0_703.pdf

 

 

เรื่องโดย จิราภรณ์ การะเกตุ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล


   
อ้างอิง
แท็กหัวข้อ
แบ่งปัน:
1,396,188 views since 16 August 2018