โดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์
ช่วงนี้ เราจะเห็นคนไทยวุ่นวายอยู่กับข่าวสารไม่กี่เรื่อง โดยข่าวที่ว่านี้ ก็จะมีเรื่องไวรัสโควิด-19 และเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนด้วยเงิน 5,000 บาท จากรัฐบาล ซึ่งมีหลายคนได้รับและมีหลายคนเหมือนกันที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าว แต่คนเหล่านั้นก็ล้วนได้ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยาด้วยกันทั้งนั้น ส่วนที่เรื่องนี้เป็นข่าว ก็เพราะคนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยานั้นได้ออกมาเรียกร้องจนทำให้ทุกคนสนใจติดตามกันอยู่จนถึงขณะนี้
ถามว่า เรื่องนี้ความผิดพลาดอยู่จุดไหน หรือเกิดอะไรขึ้นจึงเกิดปัญหาในเรื่องนี้ ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้ว ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้เครื่องมือประมวลผลข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับกันในสังคมโลกปัจจุบันที่สุด ซึ่งก็คือปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) นั่นเอง แต่ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า มีสัจจะหรือความจริงอยู่ประการหนึ่งที่ใครๆ ก็รู้กัน คือ ในความแน่นอนนี้ มักจะมีความไม่แน่นอนแฝงมาด้วยเสมอ เช่นเดียวกัน ในความไม่แน่นอน ก็จะมีความแน่นอนซ่อนอยู่ด้วย ดังปรัชญาอนิจจตา (ความไม่แน่นอนหรือไม่เที่ยง) ของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า AI ที่มนุษย์ยอมรับว่าฉลาดเทียบเท่ามนุษย์หรืออาจจะมากกว่า ก็ผิดพลาดได้เหมือนกัน ซึ่งมิใช่ว่าพอเป็น AI แล้ว จะมั่นใจได้ตลอด สรุปแล้ว เรื่องนี้ทำให้เกิดแง่คิดสอนใจใน 4 รูปแบบ ที่ผู้เขียนจะกล่าวเทียบเคียงกับสถานการณ์ชีวิตคนและสังคม มุมมองต่อ AI ของคน และวิเคราะห์ทัศนะ ดังนี้
ที่ |
สถานการณ์ชีวิตคนและสังคม |
มุมมองต่อ AI ของคน |
วิเคราะห์ทัศนะ |
1. |
ในความแน่นอน อาจมีความแน่นอนได้ |
AI จะไม่มีทางผิดพลาดเลย |
มองโลกด้านเดียว |
2. |
ในความไม่แน่นอน อาจมีความไม่แน่นอนได้ |
AI จะไม่มีทางถูกต้องเลย |
มองโลกด้านเดียว |
3. |
ในความแน่นอน อาจมีความไม่แน่นอนได้ |
AI จะไม่ผิดทางพลาด แต่ก็อาจผิดพลาดได้ |
มองโลกสองด้าน |
4. |
ในความไม่แน่นอน อาจมีความแน่นอนได้ |
AI จะไม่ทางถูกต้อง แต่ก็อาจถูกต้องได้ |
มองโลกสองด้าน |
ดังนั้น เรื่อง AI กับ เงิน 5,000 บาท นี้ จึงอยากชวนคนไทยช่วยกันเรียนรู้ตามความเป็นจริงทั้ง 4 รูปแบบ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เพื่อความเมตตากรุณาต่อกัน ด้วยการหันมาสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการสร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศกันให้มากขึ้น เพื่อจักได้รู้เท่าทันและใช้ AI จนเกิดทักษะขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งลักษณะแบบนี้ย่อมดีกว่าเมื่อเห็น AI เกิดความผิดพลาดแล้ว ก็ไม่สนใจใฝ่รู้ มิหนำซ้ำ กลับโทษว่า เป็นเพราะ AI จึงเกิดปัญหาสารพัดอย่าง การมีทัศนะต่อ AI เช่นนี้ ย่อมถือว่า ไม่ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่คนไทยและสังคมไทยโดยรวม ท้ายที่สุดนี้ จึงอยากเสนอว่า เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่คนไทยจะมอง AI อย่างที่ AI เป็น คือ เป็นเพียงแค่ปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออะไรต่อมิอะไรตามความต้องการของมนุษย์ และที่สำคัญยิ่ง เราคนไทยด้วยกันเองไม่ควรที่จะมาขัดแย้งกันเพราะความผิดพลาดจาก AIที่อาจแน่นอนหรือไม่แน่นอนก็ได้ เรียกว่า เราควรมองโลกสองด้านตามที่กล่าวมาข้างต้นย่อมจะเป็นการดีที่สุดแน่นอน....ถึงแม้ว่าโลกนี้จะไม่แน่นอนก็ตาม