Chancroid คืออะไร ?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi ทำให้เกิดเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศร่วมกับอาการเจ็บหรือปวด และต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต พบได้บ่อยในประเทศแถบอากาศร้อน
อาการของแผลริมอ่อน
หลังจากได้รับเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ประมาณ 3-7 วัน จะเกิดเป็นตุ่มนูนแดงบริเวณอวัยวะเพศ และค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผลหนอง และอาจแตกออกเมื่อถูกเสียดสี มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณแผล ผู้ที่รักษาโรคไม่หายขาดเกือบครึ่งมักมีอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบข้างเดียวหรืออาจเป็นทั้ง 2 ข้าง
อาการของแผลริมอ่อนในผู้ชายและผู้หญิงอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ในผู้ชายมักจะสังเกตเห็นตุ่มแดงขนาดเล็กที่อวัยวะเพศไม่กี่ตุ่ม โดยเฉพาะบริเวณหนังหุ้มปลายองคชาตและถุงอัณฑะ ก่อนจะกลายเป็นแผลเปิดภายใน 1-2 วัน มีอาการเจ็บหรือปวดมาก ส่วนใหญ่มีแผลเพียงจุดเดียว
ในขณะที่ผู้หญิงจะเกิดตุ่มแดงมากกว่าผู้ชาย พบได้บ่อยบริเวณแคมเล็กหรือด้านนอกของอวัยวะเพศ ต้นขา ขาหนีบ และปากมดลูก มีอาการเจ็บปวดน้อยกว่า หลังจากตุ่มแดงหายไปจะเริ่มกลายเป็นแผลเช่นเดียวกัน แต่จำนวนแผลมักมีมากกว่า 4 แผลขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้หญิงที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่สามารถแพร่เชื้อโรคแก่ผู้อื่นได้ จึงทำให้ผู้หญิงมักสังเกตอาการได้ค่อนข้างยากกว่าผู้ชาย เนื่องจากลักษณะโรคมีความคล้ายคลึงกับโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น
ลักษณะและอาการอื่น ๆ ที่มักพบร่วมกันในผู้ชายและผู้หญิง
- ขนาดของแผลมีตั้งแต่ ⅛ - 2 นิ้ว (3 มิลลิเมตร-5 เซนติเมตร)
- บริเวณแผลมีอาการปวดมาก
- ตำแหน่งของแผลอาจเกิดได้ทั่วบริเวณอวัยวะเพศ
- ลักษณะกลางแผลค่อนข้างนิ่ม มีความนูน ขอบแผลชัดเจน มีตั้งแต่สีเหลืองปนเทาไปจนถึงสีเทา
- เมื่อสัมผัสหรือเสียดสีอาจทำให้เลือดออกที่แผลได้ง่าย
- ปวดในขณะปัสสาวะ อุจจาระ หรือมีเพศสัมพันธ์
- ในผู้หญิง อาจมีตกขาวมากและกลิ่นรุนแรง
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตจนกลายเป็นแผลหนอง และอาจทำให้เกิดฝีขนาดใหญ่
ภาพที่ 1 เชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi
ที่มา: MedThai (2017)
การวินิจฉัยแผลริมอ่อน
แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติที่พบ ประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายทั่วไป ซึ่งจะต้องตรวจดูแผลที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศอย่างละเอียด ตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ และส่งตัวอย่างหนองหรือน้ำจากแผลไปเพาะเชื้อ เพื่อแยกโรคนี้ออกจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่โรคแผลริมอ่อนจะมีอาการเจ็บหรือปวดร่วมด้วย ในขณะที่โรคซิฟิลิสจะไม่มีอาการเจ็บหรือปวดแผลอย่างไรก็ตาม โรคแผลริมอ่อนไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้จากการตรวจเลือด แต่การตรวจเลือดอาจใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น บางรายอาจได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพราะมักเป็นโรคที่เกิดร่วมกันได้สูง
การรักษาแผลริมอ่อน
โรคแผลริมอ่อนส่วนใหญ่รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ไวขึ้น และลดรอยแผลเป็น แต่ในบางรายที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมจนมีขนาดใหญ่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
การรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะมีอยู่หลายชนิด เช่น ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและบรรเทาอาการให้ดีขึ้นภายใน 7 วัน เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและถูกประเภท แต่สำหรับผู้ที่เกิดการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยอาจตอบสนองต่อยาได้ช้าลง และบางรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลภายใน 7 วัน อาจจำเป็นต้องวินิจฉัยโรคใหม่อีกครั้ง
ในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองบวมจนมีขนาดใหญ่หรือเกิดฝีภายในต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อระบายเอาหนองหรือฝีออก และลดโอกาสปวดบวมของแผล ซึ่งแพทย์อาจใช้การผ่าตัดหรือเจาะเอาหนองออก ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน การรักษาอาจใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายสนิทดี ดูแลความสะอาดของร่างกายและแผล
ภาวะแทรกซ้อนของแผลริมอ่อน
แผลริมอ่อนอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดรอยทะลุขึ้นของท่อปัสสาวะ (Urethral Fistula) และแผลเป็นที่หนังหุ้มปลาย โดยเฉพาะในผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศออก แต่ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ผู้ป่วยมักจะต้องใช้เวลารักษาแผลริมอ่อนนานมากขึ้น
การป้องกันแผลริมอ่อน
- แผลริมอ่อนมีวิธีการป้องกันเหมือนกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ทั่วไป ตามคำแนะนำดังนี้
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้หรือมีบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ
- ควรสวมถุงยางป้องกันทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ไม่สำส่อนทางเพศ
- รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
ผู้ที่เป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ หรือในรายที่คาดว่าได้รับเชื้อควรงดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 10 วัน และไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
สาเหตุของแผลริมอ่อน
การติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi ดังภาพที่ 1 เกิดจากการสัมผัสโดนของเหลวจากแผลโดยตรง ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผลหรือมือที่มีเชื้อไปสัมผัสโดนดวงตา รวมถึงการสัมผัสถูกเชื้อในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งการร่วมเพศทางปาก ทางทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิงโดยปกติ ส่วนระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ในช่วง 1 วัน-2 สัปดาห์ แต่เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 5-7 วัน จึงเริ่มพัฒนาอาการให้เห็นชัดตามมาเชื้อชนิดนี้มักระบาดมากในประเทศแถบแอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือถิ่นที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่สะอาดเพียงพอ จึงอาจทำให้ได้รับเชื้อในระหว่างที่พักอาศัยหรือท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้
อ้างอิงจาก : https://www.pobpad.com/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99
https://medthai.com/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99/
เรื่องโดย พงษ์ผไท กิจรุ่งโรจนาพร สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล