Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) VS โพรไบโอติกส์ (Probiotics)

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
9,706 เข้าชม
(@anongnat-patthanasaksiri)
Trusted Member
เข้าร่วม: 6 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 25
หัวข้อเริ่มต้น  

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) VS โพรไบโอติกส์ (Probiotics)

 

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออะไร

        เป็นสารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมในระบบทางเดินอาหารได้ อาหารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง โดยสารดังกล่าวเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างเป็นปกติจัดเป็นอาหารในกลุ่ม functional food

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คืออะไร

        เป็นกลุ่มแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ขนาดเล็ก ซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี มีประโยชน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร ให้คำจำกัดความว่า โพรไบโอติกส์ คือ “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดีในภาวะต่างๆ โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้” เพราะหากมีปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยนอกจากจะพบได้ในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ ช่องคลอดแล้ว ยังสามารถพบได้ในอาหารบางชนิดอีกด้วย

อาหารที่มีพรีไบโอติกส์ (Prebiotics)

        พบได้ในผัก ผลไม้และเมล็ดธัญพืชบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง รากชิคอรี หัวอาร์ทิโชก กระเทียม หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย แอปเปิล

อาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics)

        พบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ แตงกวาดอง มิโสะ ชาหมัก

บทบาทและประโยชน์ของมีพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ในร่างกาย

        นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกก็อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ช่วยเรื่องการเผาผลาญ และอาจมีประสิทธิภาพในด้านการต้านโรคบางชนิด เช่น โรคสมองจากโรคตับ โรคอ้วน ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งลำไส้ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น รวมทั้งอาจช่วยป้องกันภาวะผื่นผิวหนังอักเสบและโรคแพ้อาหารในเด็กทารกได้อีกด้วย

บทบาทและประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ในร่างกาย

        ช่วยปรับสมดุลลำไส้ ด้วยการเข้าไปลดปริมาณจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีที่อาจก่อโรคในร่างกาย ช่วยกำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร ป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ โดยการสร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย

        ทั้งยังกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารให้มีความสมดุล โดยการสร้างเอนไซม์หลากหลายชนิด ลดอาการท้องอืด ท้องเสีย กระตุ้นการขับถ่าย บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน และเมื่อลำไส้มีจุลินทรีย์ดี แบคทีเรียดีมากกว่าชนิดไม่ดี ก็ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้นไปด้วย

        นอกจากนี้ โพรไบโอติกยังช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในช่องคลอดได้ด้วย ซึ่งก็จะส่งผลในด้านป้องกันการติดเชื้อราในช่องคลอด รวมถึงโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ และยังมีการศึกษาที่พบว่า การได้รับโพรไบโอติกเป็นประจำมีส่วนช่วยคงระดับอารมณ์ได้ เพราะแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้มีส่วนช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ถ้าได้รับในปริมาณที่เพียงพอ ที่สำคัญโพรไบโอติกยังมีส่วนช่วยลดอาการลองโควิดอีกด้วย

หลักการทำงานและประโชยน์ของพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และ โพรไบโอติกส์ (Probiotics)

        สารในกลุ่มพรีไบโอติก จัดเป็น functional food เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยจะกระตุ้นการทำงานและส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์โปรไบโอติก (probiotic) เช่น แบคทีเรียในกลุ่ม lactic acid bacteria ได้แก่ แล็กโทบาซิลลัส (lactobacillus) และไบฟิโดแบคทีเรีย (bifidobacteria)

        พรีไบโอติกและโปรไบโอติกทำงานร่วมกัน จะรวมเรียกว่า ซินไบโอติก (synbiotics) จะเป็นผลดีต่อร่างกายมากช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีกระตุ้นการเจริญของจุลินทรีย์ภายในทางเดินอาหารให้เหมาะสม ทำให้โปรไบโอติกมีการย่อยสลายในระบบนิเวศน์จุลินทรีย์ที่มีการแข่งขันกัน ผลที่ตามมา คือ

          - กรดแล็กทิก (lactic acid) ที่จุลินทรีย์สร้างจะยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค (pathogen) และสร้างสารพิษ เช่น Clostridium perfringens, Salmonella และช่วยป้องกันและลดอาการของโรคติดเชื้อ (infection) ในทางเดินอาหาร

         - ช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอล (cholesterol) ฟอสฟอลิพิด (phospholipid) และไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือด โดย Lactobacillus acidophilus ซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้จะช่วยย่อยสลายคอเลสเตอรอล และยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลผ่านผนังลำไส้

         - ช่วยการดูดซึมอาหารในลำไส้ก็ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอาการท้องผูกได้ เนื่องจากกรดอินทรีย์ที่จุลินทรีย์ บิฟิโดแบคทีเรีย (bifidobacteria) ผลิตขึ้น จะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และช่วยเพิ่มความชื้นของอุจจาระ ทำให้สามารถขับถ่ายได้ดีขึ้น

         - ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมในระบบย่อยอาหาร

         - สามารถผลิตวิตามิน vitamin B1, vitamin B2, vitamin B6, vitamin B12, nicotinic acid และ folic acid ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาภาวะภูมิแพ้ เสริมสร้างการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันได้

 

ที่มา

  1. ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง.(2565).10 อาหารที่มีโพรไบโอติก ช่วยปรับสมดุลลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน กินอะไรดี.สืบค้น 23 พฤษภาคม 2565,

จาก https://health.kapook.com/view 255275.html?utm_source=grf-eng&utm_medium=partner&utm_campaign=giraff.io

  1. ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.(2562).โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ ต่างกันอย่างไร?.สืบค้น 23 พฤษภาคม 2565,

จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july- 2019/probiotics-and-prebiotics

  1. พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, นิธิยา รัตนาปนนท์.(ไม่ปรากฎปีที่แต่ง). Prebiotic / พรีไบโอติก.สืบค้น 23 พฤษภาคม 2565,

จาก https://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/ 0781/prebiotic

  1. พบแพทย์.(ไม่ปรากฎปีที่แต่ง).พรีไบโอติก กับประโยชน์ที่ควรรู้.สืบค้น 23 พฤษภาคม 2565,จาก https://www.pobpad.com/%E 0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%97

   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,395,037 views since 16 August 2018