เมื่อเช้าวันที่ 15 มี.ค. 2564 ผมมีโอกาสไปบรรยายที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
มีอาจารย์ท่านหนึ่งถามว่า อะไรเป็นแรงจูงใจให้อาจารย์ชัยเลิศเรียนภาษาต่างประเทศ ทำให้พูดได้ถึง 8 ภาษา...
ผมตอบว่า...
1. ตอนเด็ก ๆ ถูกคุณพ่อกำหนดให้เรียน โดยสภาพบังคับ แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่า ถูกบังคับ แต่กลับรู้สึกว่า โชคดีจัง รู้เรื่องคนจีนและคนไทยพูดกัน ต่อราคาที่ตลาดเก่าก็ได้ด้วย รู้สึกว่าได้เปรียบกว่าคนที่รู้เพียงภาษาเดียวครับ
2. โตขึ้น เพราะความอยากรู้ อยากเห็น (เรื่องของคนอื่น 555) ซุนวู --> รู้เขา ทำให้เราได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ เรารู้ภาษาเขา แต่เขาอาจจะไม่รู้ภาษาเรา ทำให้เรารู้เท่าทันคนต่างชาติต่างภาษาครับ
3. อยากสร้างความประทับใจให้คนในประเทศที่เราไปเยือน เพราะเวลาฝรั่งพูดไทยได้ เราคนไทยก็รู้สึกประทับใจฝรั่งคนนั้นทันทีครับ ดังนั้น เวลาเราไปประเทศอื่น แล้วเราสามารถทักทาย พูดภาษาของเขาได้ เขาคงจะประทับใจเราบ้าง ไม่มากก็น้อยครับ เป็นการผูกมิตร และได้ใจเขาโดยไม่ยากครับ
4. ใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ในภาษาอื่น ๆ ที่อยากรู้ เป็นการเสพความรู้ปฐมภูมิ (primary knowledge) ไม่ต้องรอคนมาแปลให้ และเป็นความรู้ทุติยภูมิ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาแปลผิดหรือเปล่าครับ ทำให้เรารอบรู้ครับ ลองคิดดูง่าย ๆ นะครับ บนโลกนี้มีคนจีนแผ่นดินใหญ่รวมกับคนจีนโพ้นทะเลประมาณ 3000 กว่าล้านคน ความรู้และเทคโนโลยีของจีนก็ก้าวหน้าอย่างมาก ถ้าเรารู้ภาษาจีน จะทำให้เราอ่าน web page ที่เป็นภาษาจีนได้อีกจำนวนมหาศาลเลยครับ ลองจินตนาการดูสิครับ
5. ถ้ามีความจำเป็น ก็เป็นการบังคับให้ต้องเรียนครับ เช่น ไปอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็ทำให้เราต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่เหตุผลข้อนี้ ไม่เคยเกิดกับผมเลยครับ แต่เกิดกับนิสิตนักษึกษาไทยหลายคนที่ต้องไปศึกษาต่างประเทศครับ
ถ้าเราจะโน้มน้าวให้เด็กอยากเรียนภาษาต่างประเทศ ก็ต้องสร้างแรงจูงใจ ที่ดีที่สุดคือทำให้เขาเห็นประโยชน์ การได้เปรียบ โอกาสในความรอบรู้ อีกประการหนึ่งคือ ความจำเป็นของการรู้ภาษาต่างประเทศนั้น ๆ ครับ
ชัยเลิศ พิชิตพรชัย