Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

การศึกษากับพฤติกรรมการอ่าน Education : Reading Behavior

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
461 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 7 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

          ถ้าจะถามว่า การศึกษาคืออะไร เป็นคำถามที่กว้างและยากที่จะตอบให้ถูกต้องและถูกใจคนถามได้ เพราะว่าเรื่องการศึกษานี้มักมีความหมายทับซ้อนกันอยู่ 2 นัย คือ นัยแรก หมายถึง การศึกษาที่มีระบบการจัดการอย่างเป็นระเบียบ เป็นขั้นตอน มีการเริ่มต้น มีกระบวนการดำเนินการ กระบวนการสรุปและประเมินผล นัยที่สอง หมายถึง การศึกษาที่ดำเนินไปตามธรรมชาติ เรียกว่า การเรียนรู้ในสิ่งที่ผู้ศึกษาได้ประสบพบเจอนั่นเอง ดังนั้น ในเรื่องการศึกษาจึงยังมีการโต้แย้งถกเถียงกันด้วยทฤษฎีใหม่ๆ เรื่อยมา โดยทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติในการเรียนการสอนในสมัยหนึ่ง อาจไม่ได้รับการยอมรับในสมัยต่อมาก็ได้ การที่กล่าวเช่นนี้ เพราะเรื่องการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่จะคงที่ ตายตัว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามความเข้าใจแบบเดิมๆ อีกต่อไป

          ปัจจุบันการศึกษาได้ถูกนิยามอยู่บนพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในสถาบันหรือหน่วยงานทางการศึกษาเท่านั้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับนักการศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อการศึกษาได้ถูกนิยามใหม่ พฤติกรรมการแสวงหาความรู้ด้วยการอ่านจะยังคงเป็นรูปแบบที่น่าสนใจและเป็นคำตอบสำหรับนักการศึกษาในสมัยนี้และสมัยหน้าเหมือนเดิมหรือไม่ บทความนี้จึงชวนแสวงหาคำตอบจากคำถามที่ว่า หากพฤติกรรมการอ่านไม่ใช่คำตอบสำหรับการแสวงหาความรู้ มนุษย์จะใช้วิธีการใดในการเข้าถึงความรู้และความจริงที่ตนต้องการ

การศึกษาที่พัฒนาจากการอ่านเป็นอย่างไร

          ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษายังสามารถเป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์ได้อยู่เรื่อยๆ ถึงแม้การศึกษาจะถูกปรับเปลี่ยนความหมายไปอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การศึกษาสามารถพัฒนามนุษย์ได้ก็คือ พฤติกรรมการอ่านนั่นเอง โดยการอ่านนี้เป็นลักษณะของการแสวงหาความรู้ที่มนุษย์ใช้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ดังจะเห็นได้จากการพูดถึงการอ่าน ว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีความรู้ความสามารถได้  หากไม่อ่านแล้ว ความรู้จะเกิดมีขึ้นในมนุษย์ได้อย่างไร และเป็นไปได้ยากมากที่คนไม่อ่านแล้วจะมีความรู้ขึ้นมาได้ ดังนั้น ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมนุษย์ สามารถลดลงหรือหมดไปได้ด้วยความรู้ที่เกิดขึ้นจากการอ่านอย่างแน่นอน  ถ้าจะว่า การอ่านนั้นคือการกระทำอย่างไร การอ่านเป็นเพียงแค่การเปิดสายตาแล้วเพ่งดูที่ตัวหนังสือในเอกสารเท่านั้น ใช่หรือไม่ เมื่อวิเคราะห์เจาะไปถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการอ่านแล้วย่อมมีนัยที่กว้างกว่านี้ การอ่านที่ถือว่าเป็นไปตามหลักวิชาการและเป็นการอ่านที่เป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความรู้ในศาสตร์นั้นๆ ต้องเป็นการอ่านที่อยู่ใน 2 ลักษณะดังนี้

  1. เป็นการอ่านที่เกิดจากการตั้งใจและเอาจริงเอาจังของตน

          การอ่านนี้ต้องเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้อ่านมีความปรารถนาหรือต้องการที่จะอ่านอยู่ในใจเป็นเบื้องต้น แล้วตามด้วยการมีความหมั่นเพียรพยายามอ่านในสิ่งที่ต้องการนั้น ตรงกันข้าม หากไม่เริ่มอ่านจากสิ่งที่ชอบแล้วโอกาสที่จะหมดความขยันหมั่นเพียรนั้นเป็นไปได้สูงมาก ดังนั้น ลักษณะที่จะส่งเสริมให้พฤติกรรมการอ่านมีความยั่งยืนและเป็นประโยชน์ ต้องเป็นการอ่านในสิ่งที่ชอบหรือปรารถนาเท่านั้น เพราะต่อไปเมื่อเกิดความเบื่อที่จะอ่านแล้ว ความชอบจะช่วยบรรเทาความเบื่อนั้นให้เหือดหายไปได้ จนในที่สุด ความชอบจะช่วยกระตุ้นให้อยากอ่านขึ้นเรื่อยๆ จนติดเป็นนิสัยไปเลย

  1. เป็นการอ่านที่เกิดจากการกระตุ้นของคนอื่นแล้วตนสนใจ

          การอ่านนี้เป็นพฤติกรรมที่สังคมหรือคนรอบข้างเร่งเร้าให้เกิดความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้ในตน ซึ่งพฤติกรรมลักษณะเช่นนี้ อาจเป็นการยากมากที่จะทำให้การอยากอ่านเกิดขึ้นได้ เพราะการที่จะให้คนรอบข้างหรือสังคมกระตุ้นให้เกิดความสนใจอ่านเพื่อแสวงหาความรู้หรือคำตอบนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เนื่องจากปัจจัยที่กระตุ้นการศึกษาของตนเองด้วยสิ่งเหล่านี้เป็นการบังคับให้เกิดขึ้นได้ยาก หรือถึงแม้เกิดขึ้นก็ไม่มีทางสม่ำเสมอเหมือนกับเงื่อนไขแรก ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่พฤติกรรมความสนใจอ่านจะเกิดขึ้นจากการกระตุ้นของคนอื่นแล้วเป็นไปอย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากตอนเป็นเด็กที่ทุกคนมักจะถูกคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู อาจารย์ กระตุ้นหรือบังคับให้อ่าน ซึ่งตอนนั้นทุกคนก็ได้ทำตามโดยดี แต่เมื่อเติบโตขึ้น พฤติกรรมการอ่านเพื่อหาความรู้ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ก็หมดไป ความสนใจต่อการอ่านก็พลอยหมดตามไปด้วย สรุปแล้ว การสนใจอ่านที่คนอื่นกระตุ้นให้อ่าน นับว่าเป็นการอ่านที่หนีไม่พ้นแรงกระตุ้นจากภายในของตนเองอยู่ดี

เมื่อไม่อ่าน การศึกษาจะพัฒนาได้อย่างไร

          มีคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่คนไม่อ่านแล้วจะรู้เรื่อง หรือคนไม่สนใจศึกษาหาความรู้แล้วจะมีความรู้ได้ ในเรื่องนี้ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ในวงการนักคิด นักวิชาการ และนักการศึกษา เพื่อเป็นการวิเคราะห์ ผู้เขียนขอนำเสนอความคิดเกี่ยวกับอ่านไว้ 2 ประเด็น คือ ฝ่ายที่เห็นว่าการอ่านไม่ใช่ประเด็นหลักเสมอไปสำหรับการศึกษาและฝ่ายที่เห็นว่าการอ่านเป็นประเด็นหลักในการศึกษา โดยแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันดังนี้

  1. ฝ่ายที่เห็นว่าการอ่านไม่ใช่ประเด็นหลักเสมอไปสำหรับการศึกษา

          การศึกษาหาความรู้นี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยการอ่านเสมอไป เพราะพฤติกรรมการอ่านนั้นมีความจำเป็นสำหรับการศึกษาในยุคก่อน แต่ในยุคนี้การอ่านเป็นเพียงพฤติกรรมรองสำหรับการแสวงหาความรู้เท่านั้น        ที่กล่าวเช่นนี้ จะเห็นได้จาก ผู้ที่เข้ามาศึกษาในระบบแล้วไม่ค่อยมีพฤติกรรมการอ่าน แต่ก็สามารถสอบผ่านจนจบการศึกษาออกไปได้ แสดงให้เห็นว่าการอ่านนี้เป็นเพียงการแสวงหาความรู้รูปแบบหนึ่งในบรรดาหลายๆ แบบเท่านั้น ดังนั้น การอ่านจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับการศึกษาหาความรู้ ยิ่งทุกวันนี้ สื่อการเรียนรู้ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษหรือหนังสือเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังมีสิ่งอื่นหรือประสบการณ์ตรงที่เป็นความรู้ให้ผู้ศึกษาเข้าถึงได้โดยไม่ต้องอาศัยการอ่านก็มี

  1. ฝ่ายที่เห็นว่าการอ่านเป็นประเด็นหลักและสำคัญมากในการศึกษา

          การอ่านจัดว่าเป็นพฤติกรรมที่สำคัญยิ่ง เรียกว่าหากปราศจากการอ่านแล้ว การจะมีความรู้จริงในแต่ละเรื่องนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ จริงอยู่ในปัจจบันแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าการอ่านไม่จำเป็นเสมอไปแล้วสำหรับคนยุคนี้ เพราะคนยุคนี้ต้องการเข้าถึงความรู้ประเภทที่จับต้องได้หรือความรู้แบบประสบการณ์ตรง ส่วนการศึกษาหาความรู้ผ่านการอ่านนั้นถือว่าเป็นชั้นทุติยภูมิเท่านั้น เพราะหลังจากการอ่านที่เป็นชั้นทุติยภูมิแล้วยังต้องนำสิ่งที่ได้จากการอ่านไปทดลองฝึกปฏิบัติอีก จึงยังไม่รู้เลยว่าหลังจากปฏิบัติแล้วจะได้ผลตามความรู้หรือแนวคิดและทฤษฎีที่อ่านมาแล้วหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ฝ่ายนี้ก็ยังยืนยันว่าการอ่านเป็นพฤติกรรมที่จะสะท้อนถึงการมีความรู้ความเข้าใจและความสามาถที่แท้จริงได้ เพียงแต่การอ่านนั้นต้องไม่ใช่เพียงแค่การหยิบเปิดอ่านเท่านั้น แต่ต้องเป็นการอ่านด้วยความตั้งใจ (อ่านแบบฉันทะหรือสุตมยปัญญา) อ่านด้วยความขยันหมั่นเพียร (อ่านแบบวิริยะ) และอ่านด้วยความมุ่งมั่น ไม่วอกแวก (อ่านแบบจิตตะหรือจินตามยปัญญา) ท้ายที่สุด การอ่านจะนำผู้อ่านไปสู่ความรู้ที่แท้จริง ซึ่งเป็นความรู้ที่สามารถแยกแยะสรรพสิ่งทั้งที่เป็นวัตถุ (รูปธรรม) และไม่ใช่วัตถุ (นามธรรม) ได้ สามารถแยกระหว่างดีกับชั่ว ฉลาดกับโง่ รู้กับไม่รู้ จริงกับเท็จ ใช่กับไม่ใช่ ถูกต้องกับไม่ถูกต้องได้

วิเคราะห์การศึกษากับพฤติกรรมการอ่าน

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้วิเคราะห์ได้ว่า การอ่านนี้สามารถทำลายความไม่รู้ (อวิชชา) ได้อย่างชะงัก การอ่านเป็นพฤติกรรมที่ควรให้เกิดมีขึ้นในตน การอ่านจะช่วยทำให้ตนอยู่รอดปลอดภัยจากปัญหาหรืออุปสรรคภายนอกและภายในที่จะทำให้ลำบาก ดังนั้น การอ่านจึงเป็นพฤติกรรมที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  แม้สภาพทางการศึกษาในปัจจุบันจะเปลี่ยนรูปแบบไป แต่ความรู้ที่แท้จริงนั้นหาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหมือนการศึกษาไม่ เพราะการศึกษาที่บอกว่าเปลี่ยนไปนั้นย่อมไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริงอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในการศึกษานั้นเป็นเพียงองค์ประกอบของการศึกษาเท่านั้น เช่น พฤติกรรมการสอนของครูที่ต้องเปลี่ยนไป การใช้รูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับเด็กสมัยนี้ เพราะเด็กทุกวันนี้เติบโตมาจากสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนสมัยก่อนนั่นเอง ดังนั้น การที่ครูจะใช้รูปแบบการสอนเดิมในการพัฒนาผู้เรียน จึงเป็นการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคมและการศึกษา แต่มีพฤติกรรมทางการศึกษาอยู่อย่างหนึ่งที่ห้ามละทิ้งคือพฤติกรรมการอ่าน เพราะการอ่านถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการจัดการศึกษานั่นเอง โดยการอ่านกับการศึกษานี้สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

  1. การศึกษาเปลี่ยน แต่การอ่านยังคงสำคัญ

          การเรียนการสอนในปัจจุบันนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูป เพราะสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรียกว่าการขับเคลื่อนการศึกษานี้จะจัดการเรียนการสอนเหมือนอย่างที่เคยทำมาในอดีตไม่ได้แล้ว การจัดการศึกษาในปัจจุบันต้องดูทิศทางของกระแสโลกประกอบด้วย แต่เมื่อวิเคราะห์เฉพาะองค์ประกอบภายในของการเรียนรู้แล้ว พฤติกรรมการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองและสังคมยังต้องอาศัยการอ่านเป็นเครื่องมืออยู่ต่อไป โดยแม้สิ่งที่อ่านจะเป็นการอ่านแบบออนไลน์ก็ยังนับว่าเป็นการอ่านเพื่อแสวงหาความรู้ตามแนวคิดและทฤษฎีทางการศึกษาอยู่เช่นเดิม

  1. การศึกษาเปลี่ยน แต่การอ่านต้องยั่งยืน

          การศึกษาในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การศึกษาที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลกอย่างรวดเร็วนี้มีระบบคือการอ่านที่จะต้องทำให้คงเส้นคงวา ไม่แปรเปลี่ยนไปตามองค์ประกอบรองของการศึกษา และมีความยั่งยืน ซึ่งการอ่านที่ยั่งยืนนี้คือการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อ่านแล้วคิดวิเคราะห์ในสิ่งที่อ่านได้อย่างมีเหตุผล และสามารถนำสิ่งที่อ่านไปประยุกต์ใช้ในการงานและชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การอ่านจึงต้องเป็นพฤติกรรมที่ควรให้มีอยู่อย่างถาวรในมนุษย์  การอ่านจะทำให้มนุษย์มีความสุขในขณะศึกษาในระบบและจบการศึกษาไปแล้วจนสามารถนำสิ่งที่ศึกษาไปประกอบการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่จบการศึกษาไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจะคิด พูด และทำเพื่อตัวเองและสังคมรอบข้างได้ สรุปแล้ว การศึกษาแม้จะมีความผันผวนในระบบอยู่มากในปัจจุบัน แต่การอ่านก็ยังคงเป็นเครื่องมือรักษาความรู้ที่มีอยู่ในตนไว้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

 

          ตามที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับการศึกษาและพฤติกรรมการอ่าน จึงสรุปได้ว่า การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ล้วนถือว่าการอ่านเป็นเครื่องมือพัฒนาความรู้ในตนและสังคม ดังนั้น มนุษย์จึงควรให้คุณค่ากับอ่านเหมือนอย่างที่เคยยืนยันตลอดมา ส่วนการศึกษาในระบบและพฤติกรรมการอ่านที่ในปัจจุบันพบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยมากเมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานการอ่านของประเทศอื่นๆ แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็อาจมองได้ว่าคนไทยกำลังสนใจการศึกษาหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็ได้ ซึ่งการศึกษาที่คนไทยสนใจดังกล่าวย่อมเป็นการศึกษาที่สามารถนำไปประกอบอาชีพ พัฒนาตนเองและสังคม เป็นการศึกษาที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสถาบันการศึกษาเท่านั้น เรียกว่าการศึกษาที่แท้จริงคือประสบการณ์ตรงที่สามารถนำไปปฏิบัติอย่างได้ชัดเจนและถูกต้อง โดยการศึกษาแบบตลอดชีพนี้จะเป็นไปได้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยพฤติกรรมการอ่านเป็นเครื่องมือพัฒนาเท่านั้นจึงจะเป็นไปได้

 

เรื่องโดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล

     

 


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,421,282 views since 16 August 2018