หลายหัว ดีกว่าหัวเดียว...
เป็นวลีที่ได้ยินมานาน และวลีนี้ยังคงเป็นจริง และ เด่นชัดมากขึ้นในยุคปัจจุบันที่ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อน ต้องการการมองปัญหาจากหลากหลายมิติ แต่ในความเป็นจริงการทำงานร่วมกันหลายคนอาจจะส่งผลในทางกลับกัน คือทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน เพราะสมาชิกในทีมแต่ละคนไม่เข้าใจงาน หรือไม่เข้าใจบทบาทตัวเอง ไม่รู้วิธีในการสื่อสารอธิบายหรือจูงใจ หรือ การไม่มีส่วนร่วมในการการทำงานเพราะไม่เป็นไปตามที่คนคิด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพหรือล้มเหลว
การทำงานร่วมกันจะต้องอาศัยทักษะที่มากกว่าการแก้ปัญหาแบบลำพัง ดังนั้น เด็กยุคใหม่จึงควรได้รับการฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ ซึ่งเป็นทักษะที่เกิดจากการผสานทักษะทางสังคม และ ทักษะในการแก้ปัญหาเข้าด้วยกัน ซึ่งเกมน่าจะเป็นตัวที่ผสานทักษะทั้งสองด้านเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกมกระดานแบบทำงานร่วมกัน ที่เป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบเพื่อให้เกิดปฎิสัมพันธ์ร่วมกัน ภายใต้เป้าหมายร่วมกันบางอย่าง
บทความนี้ขอนำเสนอมุมมองถึงความเป็นไปได้ในการใช้เกมกระดาน (Board game) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือในชั้นเรียน จริงๆ แล้วเกมที่มีลักษณะเป็นเกมแบบร่วมมือกันมีอยู่หลากหลายในตลาด ในบทความนี้ขอหยิบเกมที่ ชื่อ Forbidden Island มามองผ่านกรอบของการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของ OECD
(อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะแนะนำวิธีการเล่นเกม ซึ่งผู้ที่สนใจคงสามารถหาอ่านได้จากเวป หรือ วิดีโอในยูทูป)
Forbidden Island (published by Gamewright Games in 2010)
Forbidden Island เป็นเกมแบบร่วมมือกัน (Cooperative one-sided team games) โดยที่ผู้เล่นแต่ละคนจะมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว โดยที่ทุกคนมีภาระกิจที่ต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ เรื่องราวของเกมนี้ คือ ผู้เล่นทุกคนเป็นทีมล่าสมบัติที่ติดบนเกาะสมบัติที่กำลังจะจม ทุกคนต้องช่วยกันเก็บสมบัติให้ครบและบินหนีออกจากเกาะให้ทัน ในทีมล่าสมบัติ ประกอบด้วย นักบิน นักสำรวจ วิศวกร นักดำน้ำ คนส่งสาร คนนำทาง โดยที่แต่ละคนจะมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว
กลไกของเกมถูกออกแบบมาให้ผู้เล่นต้องใช้ความสามารถพิเศษของตัวเองเมื่อทำให้ทุกกคนหนีออกจากเกาะที่แผ่นดินกำลังค่อยๆ จมลง และ ระดับน้ำจะค่อยสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่งานจะสำเร็จได้ด้วผู้เล่นเพียงคนเดียว ดังนั้น ผู้เล่นจะถูกดึงให้ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันเพื่อเก็บสมบัติ ทั้ง 4 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วย The Earth Stone, the Crystal of Fire, the Statue of the Wind, and the Ocean Chalice ให้ครบ และ บินออกจากเกาะ
ด้วยกลไลที่ถูกออกแบบมาเราจะสามารถเห็นบรรยากาศของการร่วมมือกันในเกม ในบทความนี้ จะขอมองเกม Forbidden Island ผ่านกรอบสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของ OECD
เกม Forbidden Island มีกลไกสร้างประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันของผู้เล่น ครูสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นว่านักเรียนคนมีลักษณะเด่นในการแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่นอย่างไร และ มีด้านไหนบ้างที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม และนอกจากนี้ผู้เรียนยังได้ฝึกฝนทักษะเหล่านั้นการเล่นเกมอีกด้วย
อ้างอิง : http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.225.5554&rep=rep1&type=pdf
เรื่องโดย ดร.อาทร นกแก้ว สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล