จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 75 – นวัตกรรมจากสถาบัน เรื่อง การออกแบบและประเมินระบบการเรียนรู้แบบจำเพาะที่ผสมผสานแนวทางการเรียนรู้แบบควบคุมตนเอง: การออกแบบวิจัยทางการศึกษา

Newsletters

การออกแบบและประเมินระบบการเรียนรู้แบบจำเพาะที่ผสมผสานแนวทางการเรียนรู้แบบควบคุมตนเอง: การออกแบบวิจัยทางการศึกษา

เรื่อง : ธัญลักษณ์ อิงควระ, รศ.ดร.พัชรินทร์ ปัญจบุุรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรารัตน์ วงศ์เกี่ย

           ระบบการเรียนรู้จำเพาะบุคคลแบบออนไลน์ที่ผสมผสานแนวทางการเรียนรู้แบบกำกับตนเอง (Self-Regulated Learning: SRL) ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนคณิตศาสตร์เรื่องการแยกตัวประกอบ โดยระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ผสมผสานกลยุทธ์ SRL ในอินเตอร์เฟซของระบบเพื่อสนับสนุนความสามารถในการกำกับตนเองของผู้เรียนครอบคลุม 3 ระยะ ได้แก่ ระยะคิดล่วงหน้า (forethought phase) ระยะปฏิบัติให้บรรลุผล (performance phase) และระยะสะท้อนตนเอง (self-reflection phase) ในส่วนระยะคิดล่วงหน้านั้น ระบบอนุญาตให้ผู้เรียนตั้งเป้าหมายการเรียนรู้รายบุคคล อันได้แก่ เวลาที่คาดว่าจะเรียนสำเร็จ คะแนนที่คาดว่าจะได้รับ และลำดับบทเรียนที่ต้องการเรียนรู้ผ่านระบบ จากนั้นผลการเรียนรู้รายบุคคลจะได้รับการประเมินตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ในระยะปฏิบัติให้บรรลุผล สำหรับระยะสะท้อนตนเองนั้นผู้เรียนประเมินตนเองผ่านระบบในส่วนของคะแนนหลังเรียนที่คิดว่าจะได้รับและความมั่นใจต่อคะแนนที่คาดการณ์หลังการเรียนเรื่องการแยกตัวประกอบผ่านระบบแล้ว นอกจากกลไกของระบบที่กล่าวไปแล้วนั้น สื่อการเรียนรู้ในระบบยังถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับคุณลักษณะของผู้เรียนอีกด้วย ทั้งนี้ภายใต้ความเชื่อที่ว่าสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมิได้ตายตัว รูปแบบการเรียนรู้ของ Felder และ Silverman (Felder, 2002) จึงถูกนำมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ โดยคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบออนไลน์ ได้แก่ active-reflective และ visual-verbal ดังแสดงในภาพที่ 1 จากนั้นนำมาจับคู่กันได้เป็นสื่อการเรียนรู้ 4 ชุด ชุดละ 2 ประเภท คือ active-visual, active-verbal, reflective-visual และ reflective-verbal ซึ่งหมายความว่าผู้เรียนจะได้รับสื่อการเรียนรู้คนละ 2 ประเภท ที่สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ของตนเอง โดยการวินิจฉัยว่าสื่อชุดใดเหมาะสมนั้นได้มากจากการตอบแบบสอบถามเมื่อแรกเข้าใช้ระบบ สำหรับผู้เรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้แบบ active จะได้เรียนรู้การแยกตัวประกอบผ่านเกมดิจิทัลโดยใช้เทคนิค algebra tiles แยกตัวประกอบในแต่ละบทเรียน ในส่วนของผู้เรียนที่ถนัดการเรียนรู้แบบ visual จะได้รับแผนภาพอธิบายขั้นตอนการแยกตัวประกอบ สำหรับผู้เรียนที่มีรูปแบบการเรียนแบบ verbal กล่าวคือมีความคุ้นเคยกับการฟัง จะได้รับสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบของ VDO บรรยายขั้นตอนการแยกตัวประกอบ และผู้เรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้แบบ reflective จะได้รับบันทึกออนไลน์พร้อมคำถามแนะนำเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนกลุ่มนี้ได้ทบทวนความรู้ผ่านการสะท้อนคิด และจดบันทึก จากที่กล่าวมานี้ถึงแม้ผู้เรียนแต่ละคนจะได้รับสื่อการเรียนรู้มีลักษณะแตกต่างกัน แต่แนวคิดในการนำเสนอความรู้ต่างก็ใช้เทคนิค algebra tiles ในการแยกตัวประกอบทั้งสิ้น เพื่อศึกษาถึงผลการพัฒนาระบบในแง่การยอมรับระบบออนไลน์เพื่อใช้เรียนเรื่องแยกตัวประกอบ แนวทางการวิจัยการออกแบบการศึกษา (education design research approach) จึงถูกนำมาใช้เป็นกรอบในการศึกษานี้ ผลการวิจัยพบว่า ความง่ายในการใช้ระบบสามารถทำนายทัศนคติของผู้เรียนที่มีต่อระบบได้ นอกจากนี้หลังจากใช้ระบบแล้ว ผู้เรียนรับรู้ถึงประโยชน์ของการใช้ระบบเพื่อเรียนการแยกตัวประกอบมากขึ้นเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มใช้ระบบ

สารบัญ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 29 views