ทุกๆคนคงมีความคุ้นเคยเกี่ยวกับเรื่องแรงมาบ้างแล้ว จากกิจกรรม ที่กระทำในแต่ละวัน ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการเลื่อนวัตถุเช่น เก้าอี้ ต้องมีการออกแรง กระทำต่อเก้าอี้ ซึ่งจากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าการออกแรงกระทำต่อเก้าอี้นี้ จะทำให้เก้าอี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการเคลื่อนที่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การออกแรงกระทำต่อวัตถุ ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้วัตถุเคลื่อนที่เสมอไป ดังในกรณีของการออกแรงผลัก วัตถุที่มีขนาดใหญ่มากๆ เนื่องจากวัตถุดังกล่าว มีสภาพต้านการเคลื่อนที่ค่อนข้างสูงนั่นเอง

เนื่องจากแรงเป็นปริมาณเวกเตอร์ ดังนั้นการพิจารณาเกี่ยวกับแรง จึงต้องพิจารณาทั้งขนาดและทิศทาง ถ้าทราบว่า แรงประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย และ สามารถคำนวณหาขนาดของแรงลัพธ์ ได้จากเทคนิคการหาเวกเตอร์ลัพธ์ (การบวกเวกเตอร์)

เซอร์ ไอแซค นิวตัน นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 2185 - 2270 ได้กล่าวว่า แรงเป็นสาเหตุทำให้วัตถุ มีการเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ เช่น ในขณะที่วัตถุกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ แล้วมีแรงมากระทำต่อวัตถุนั้น วัตถุจะมีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว หรืออาจกล่าวได้ว่าวัตถุมีความเร่งนั่นเอง

ถ้าพิจารณา ในกรณีที่มีแรงมากระทำต่อวัตถุ มากกว่าหนึ่งแรง ในเวลาเดียวกัน วัตถุจะมีการเปลี่ยนสภาพ การเคลื่อนที่ หรือมีความเร่งก็ต่อเมื่อแรงสุทธิ (net force) ที่กระทำต่อวัตถุดังกล่าว ไม่เป็นศูนย์ แรงสุทธิ ดังกล่าวในบางครั้งอาจ เรียกว่าเป็น แรงลัพธ์ (resultant force) หรือ แรงไม่สมดุล (unbalanced force) ดังนั้นจึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่ าถ้าแรงสุทธิเท่ากับศูนย์ วัตถุจะไม่มีความเร่ง และวัตถุยังคง รักษาสภาพการเคลื่อนที่แบบเดิมไว้ได้ กล่าวคือถ้าวัตถุอยู่นิ่งก็ยังคงอยู่นิ่งต่อไป หรือถ้ากำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ก็ จะยังคงเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ต่อไป สภาพที่วัตถุอยู่นิ่ง หรือกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่นี้เรียกว่า วัตถุอยู่ในสภาวะสมดุล (Equilibrium)

นอกจากวัตถุ จะเกิดการเคลื่อนที่หลังจากถูกแรงกระทำแล้ว ในบางครั้ง รูปทรงของวัตถุก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของวัตถ ุ จะเกิดขึ้นอย่างถาวร หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุ และขนาดของแรงที่กระทำเป็นสำคัญ

เราสามารถแบ่งชนิดของแรงได้หลายวิธี วิธีหนึ่งที่ใช้กันคือ แบ่งแรงออกเป็นสองชนิด คือ แรงสัมผัส (contact force) และแรงสนาม (field force) ความแตกต่างระหว่างแรงทั้งสองชนิดนี้ ก็คือ แรงสัมผัสเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่วัตถุที่ออกแรงกระทำ และวัตถุที่ถูกกระทำ มีการสัมผัสกันทางกายภาพ เช่น การออกแรงดึงสปริง การออกแรงเข็นรถ หรือ การออกแรงเตะลูกบอล แต่ในกรณีของแรงสนาม วัตถุที่ออกแรงกระทำ และวัตถุที่ถูกกระทำ จะไม่มีการสัมผัสกันเลย เช่น การที่วัตถุตกลงมาสู่พื้น ด้วยแรงดึงดูดของโลก การที่อนุภาค ซึ่งมีประจุดึงดูดกัน หรือผลักกันด้วยแรงทางไฟฟ้า และการดึงดูด ระหว่างแม่เหล็กและเหล็กด้วยแรงทางแม่เหล็ก เป็นต้น