ลองจินตนาการดูว่า ถ้ามีการออกแรงเลื่อนหนังสือซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ ซึ่งไม่เรียบ โดยแรงที่กระทำต่อหนังสือ มีค่าเท่ากับแรงเสียดทาน ระหว่างหนังสือกับผิวโต๊ะ (เรื่องของแรงเสียดทานจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป) หนังสือจะเลื่อนไปด้วยความเร็วคงที่ กล่าวคือ แรงที่กระทำต่อหนังสือ มีขนาดเท่ากับแรงเสียดทาน แต่มีทิศทางตรงกันข้ามกัน แรงทั้งสองกระทำบนวัตถุชิ้นเดียวกัน จึงทำให้ได้แรงสุทธิเป็นศูนย์ แต่ถ้ามีการออกแรง ในการเลื่อนหนังสือ ให้มากขึ้นกว่าแรงเสียดทาน หนังสือจะเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง และถ้าหยุดออกแรงกระทำต่อหนังสือ หนังสือเล่มนี้ก็จะหยุดเคลื่อนที่ เนื่องจากมีแรงเสียดทานต้านทานการเคลื่อนที่ ถ้าพิจารณาตัวอย่างเดิม ในอีกเงื่อนไขหนึ่งคือ ในกรณีที่แรงเสียดทานระหว่างผิวโต๊ะกับหนังสือเป็นศูนย์ เมื่อมีการออกแรงเลื่อนหนังสือ ไปช่วงเวลาหนึ่ง แล้วหยุดแรงกระทำนั้น หนังสือจะเคลื่อนที่ไปตามผิวโต๊ะ ด้วยความเร็วคงที่หลังจาก ที่หยุดออกแรงกระทำต่อหนังสือแล้ว

จากแนวความคิดดังกล่าว สามารถนำมาสรุป เป็นกฎการเคลื่อนที่ ข้อที่หนึ่งของนิวตัน (Newton’s First Law of Motion) ได้ว่า

“วัตถุจะยังคงรักษาสภาพการเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะอยู่นิ่ง หรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ ตราบเท่าที่แรงสุทธิภายนอก ที่มากระทำเป็นศูนย์”

การที่วัตถุจะต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพการเคลื่อนที่ได้ดีเพียงไรขึ้นอยู่กับความเฉื่อย (inertia) ของวัตถุ ดังนั้นในบางครั้งกฎข้อที่หนึ่งของนิวตันจึงอาจเรียกว่าเป็น กฎของความเฉื่อย