ฮอร์โมนคืออะไร

       ฮอร์โมน คือ สารเคมีที่หลั่งมาจากต่อมไร้ท่อ แล้วเข้าไปในกระแสเลือด เพื่อไปมีผลต่ออวัยวะหรือเซลล์เป้าหมาย ที่มีตัวรับที่เฉพาะเจาะจงต่อฮอร์โมนนั้น


ฮอร์โมนแบ่งตามองค์ประกอบทางเคมีเป็นกี่ประเภท

ฮอร์โมนแบ่งตามองค์ประกอบทางเคมีเป็น 3 ประเภท คือ เปปไทด์ฮอร์โมน สเตรอยด์ฮอร์โมน เอมีนฮอร์โมน และบางท่านแบ่งฮอร์โมนที่เป็นอนุพันธ์ของไขมันไม่อิ่มตัวด้วย


การออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเป็นอย่างไร

 เปปไทด์ฮอร์โมนและเอมีนฮอร์โมนจะออกฤทธิ์ที่เยื่อหุ้มเซลล์ โดยการจับกับตัวรับสัญญาณที่เยื่อหุ้มเซลล์แล้วกระตุ้นผ่านจี โปรตีนซึ่งเป็นตัวกลางไปกระตุ้นการสร้าง cAMP เพื่อควบคุมการออกฤทธิ์ของแต่ละฮอร์โมน

สเตรอยด์ฮอร์โมนจะออกฤทธิ์ภายในเซลล์โดยการแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์เข้าไปในเซลล์ ไปจับกับตัวรับสัญญาณที่ไซโตปลาสซึมหรือในนิวเคลียส แล้วจะเข้าไปจับกับ DNA สร้าง mRNA ขึ้นมาแล้วสร้างโปรตีนหรือเอนไซม์ขึ้นแล้วแต่ชนิดของฮอร์โมน


การผลิตฮอร์โมนมีการควบคุมอย่างไร

       การผลิตฮอร์โมนจะถูกควบคุมด้วยหลายวิธี ได้แก่ การควบคุมแบบย้อนกลับ การควบคุมแบบกระตุ้น และวิธีอื่นๆ เช่นการหลั่งเป็นช่วงเวลาเป็นต้น การขนส่งฮอร์โมนขึ้นอยู่กับการที่ฮอร์โมนนั้นละลายน้ำได้หรือไม่ ถ้าละลายน้ำได้ฮอร์โมนจะสามารถไหลเวียนไปกับกระแสเลือดไปยังอวัยวะเป้าหมายได้โดยตรง แต่ถ้าฮอร์โมนละลายน้ำไม่ได้ ต้องมีตัวพาได้แก่โปรตีนไปยังอวัยวะเป้าหมาย และฮอร์โมนต้องหลุดเป็นอิสระก่อนที่จะจับกับตัวรับสัญญาณที่อวัยวะเป้าหมาย

การกำจัดฮอร์โมนทำอย่างไร

ฮอร์โมนที่หลั่งเข้า กระแสเลือด ทั้งหมดไม่ได้เข้าเซลล์เป้าหมายทั้งหมด ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดออกที่ไตและตับด้วยกระบวนการใช้สารเร่งปฏิกิริยา ส่วนตัวรับสัญญาณภายหลังปฏิกิริยาสิ้นสุดแล้วจะหลุดออกและสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้