แนวทางในการเลือกวารสารสำหรับตีพิมพ์บทความวิชาการ
เรื่อง : อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง
สวัสดีค่ะ ฉบับนี้มาพบกับแนวทางในการเลือกวารสารสำหรับตีพิมพ์บทความวิชาการ ซึ่งการเลือกวารสารที่เหมาะสมสำหรับการตีพิมพ์บทความวิชาการเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นกระบวนการที่ส่งผลต่อการยอมรับและเพิ่มโอกาสให้ผลงานได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ วารสารที่ดีจะช่วยให้ผลงานของคุณเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านที่สนใจในสาขาเดียวกันได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ การตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงจะช่วยเพิ่มการอ้างอิงถึงผลงานและส่งผลต่อการพัฒนาความรู้ในสาขานั้น ๆ นอกจากนี้การผ่านกระบวนการพิจารณาบทความอย่างเข้มงวด จะเป็นการรับรองคุณภาพของงานวิจัยอีกด้วย ดังนั้น การเลือกวารสารจึงเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรมองข้าม โดยมีปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณา รายละเอียดดังนี้
- ความสอดคล้องของเนื้อหา ขอบเขต และวัตถุประสงค์ของวารสาร: การเลือกวารสารควรตรวจสอบให้มีความสอดคล้องกับเนื้อหาของงานวิจัย วารสารแต่ละฉบับมักมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เฉพาะเจาะจง มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น เน้นงานวิจัยเชิงทฤษฎี งานวิจัยเชิงประยุกต์ หรืองานวิจัยที่มุ่งเน้นนโยบาย และควรพิจารณาถึงกลุ่มเป้าหมายของวารสาร ดังนั้นควรเลือกวารสารที่ตรงกับเนื้อหาของงานวิจัยของตนเอง
- คุณภาพและความน่าเชื่อถือของวารสาร: ดัชนีชี้วัดคุณภาพของวารสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้วารสารที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในวงการวิชาการ เช่น Impact Factor เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญของวารสาร โดยพิจารณาจากจำนวนครั้งที่บทความในวารสารนั้นถูกอ้างอิงในช่วงเวลาหนึ่ง การตรวจสอบว่า วารสารนั้นอยู่ในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับ เช่น Scopus, Web of Science, หรือ PubMed ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยยืนยันถึงคุณภาพของวารสาร วารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลเหล่านี้มักมีมาตรฐานการพิจารณาที่เข้มงวด และมีการเผยแพร่บทความในวงกว้าง นอกจากนี้ ควรตรวจสอบว่าบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนั้นผ่านการตรวจพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer-reviewed) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ช่วยประกันคุณภาพของผลงาน
- นโยบายการตีพิมพ์และกระบวนการพิจารณาบทความ: ควรตรวจสอบนโยบายการตีพิมพ์ของวารสารให้ละเอียด เช่น วารสารบางฉบับอาจมีค่าธรรมเนียมในการตีพิมพ์ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของบทความและความยาวของบทความ หรือมีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของบทความ ตรวจสอบเงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานของคุณหลังจากตีพิมพ์ เช่น สิทธิ์ในการนำไปเผยแพร่ในรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ ระยะเวลาในการพิจารณาบทความก็เป็นปัจจัยที่ควรคำนึงถึง บางวารสารอาจใช้เวลานานในการตอบรับหรือปฏิเสธบทความ ดังนั้น ควรเลือกวารสารที่มีกระบวนการพิจารณาที่เหมาะสมกับความต้องการและระยะเวลาที่ได้วางแผนไว้
- ประเภทของการตีพิมพ์: การเข้าถึงได้ของวารสารในปัจจุบันมีการแบ่งวารสารออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
– Open Access: วารสารแบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและอ่านบทความได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มีค่าธรรมเนียมสำหรับผู้เขียน โดยมีข้อดีคือช่วยเพิ่มการเข้าถึงบทความ เพิ่มจำนวนการดาวน์โหลดและมีการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์อย่างรวดเร็ว
– Subscription-Based: วารสารที่ผู้อ่านต้องเป็นสมาชิกหรือจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงบทความ วารสารประเภทนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมสำหรับผู้เขียน แต่จำกัดการเข้าถึงผู้อ่าน
- ชื่อเสียงของสำนักพิมพ์ วารสาร บรรณาธิการ และบอร์ดบรรณาธิการ: ใช้เป็นแนวทางประกอบพิจารณา ถึง คุณภาพของวารสาร หรือ ประกอบการตัดสินใจในการเลือกวารสาร สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซด์ของวารสาร หรือสอบถามจากอาจารย์ที่ปรึกษา หรือ เพื่อนนักวิจัย
- ระยะเวลาของกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ: สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของวารสาร ปัจจัยที่ควรพิจารณา คือ ระยะเวลาเฉลี่ยในการส่งบทความตีพิมพ์ (submit) ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ส่งบทความถึงการตอบรับ/ปฏิเสธการตีพิมพ์ การแจ้งถึงผู้เขียนว่าบทความได้รับการตอบรับและเมื่อตอบรับแล้วใช้เวลานานเท่าใด บทความดังกล่าวจึงได้ตีพิมพ์ ความถี่ในการตีพิมพ์ (issue per year) และขั้นตอนการ review
- เครื่องมือออนไลน์สำหรับการเลือกวารสาร: ปัจจุบันมีเครื่องมือช่วยเลือกวารสารออนไลน์มากมาย เช่น Journal Finder: เป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เช่น Elsevier, Wiley ที่ช่วยให้ค้นหาวารสารที่เหมาะสมกับงานวิจัยได้อย่างรวดเร็ว และฐานข้อมูลห้องสมุดของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีฐานข้อมูลที่รวบรวมรายชื่อวารสารต่าง ๆ พร้อมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้นักวิจัยได้หาข้อมูลและสืบค้นได้ง่ายขึ้น
การเลือกวารสารสำหรับตีพิมพ์บทความวิชาการเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของงานวิจัย การพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความสอดคล้องของเนื้อหา คุณภาพของวารสาร และกลุ่มเป้าหมายของผู้อ่าน จะช่วยให้คุณเลือกวารสารที่เหมาะสมที่สุด การใช้เครื่องมือออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหา การเลือกวารสารที่ดีไม่เพียงแต่ช่วยให้ผลงานของคุณได้รับการเผยแพร่ แต่ยังส่งผลต่อการอ้างอิง ผลกระทบทางวิชาการ และโอกาสในการได้รับทุนสนับสนุนในอนาคตอีกด้วย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านเลือกวารสารได้อย่างมั่นใจและเหมาะสมกับงานวิจัยของตนเอง
เอกสารอ้างอิง
- การเลือกวารสารเพื่อตีพิมพ์บทความวิชาการ. 2563 แหล่งที่มา: https://www.thailibrary.in.th/2020/08/26/choosing-appropriate-journal/ สืบค้น ณ วันที่ 6 กันยายน 2567
- จิรวัฒน์ พรหมพร. 2564. กลยุทธการเลือกวารสารนานาชาติเพื่อการตีพิมพ์. แหล่งที่มา: https://lib.swu.ac.th/images/Documents/Databases/InterJournalSelectionStrategy-pdf สืบค้น ณ วันที่ 6 กันยายน 2567
- สุดาว เลิศวิสุทธิไพบูลย์. 2558. เทคนิคการเลือกวารสารนานาชาติเพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัย. จุลสารสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพออนไลน์ แหล่งที่มา: https://www.stou.ac.th/schools/shs/booklet/book581/KMpdf สืบค้น ณ วันที่ 6 กันยายน 2567
- หน้าแรก
- EDITOR’S NOTE
- ศึกษาปริทัศน์ : นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน
- นวัตกรรมจากสถาบัน : การออกแบบและประเมินระบบการเรียนรู้แบบจำเพาะที่ผสมผสานแนวทางการเรียนรู้แบบควบคุมตนเอง: การออกแบบวิจัยทางการศึกษา
- นวัตกรรมจากสถาบัน : การเพิ่มความแม่นยำทางไวยากรณ์ในนักเรียน EFL ผ่านเกมแบบโต้ตอบที่มีการตอบกลับจากเพื่อนร่วมชั้น
- สาระน่ารู้ : ถอดบทเรียนเรื่อง การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และวิธีป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์บน Google Workspace สำหรับบุคลากร มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 2 กรกฎาคม 2567
- สาระน่ารู้ : แนวทางในการเลือกวารสารสำหรับตีพิมพ์บทความวิชาการ
- สาระน่ารู้ : ถอดบทเรียนจากการเข้าร่วมรับฟังการบรรยายหัวข้อ “AI และบทบาทในการเป็นนักวิชาการศึกษา” วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย
- สาระน่ารู้ : “สวดมนต์” ดีอย่างไร
- สาระน่ารู้ : กิจกรรม STEM ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันและในอนาคต
- สาระน่ารู้ : ความถูกต้องของการถอดบทสัมภาษณ์บุคลากรด้านสาธารณสุขไทยด้วย Whisper API
- สาระน่ารู้ : ชีววิทยาของหมูเด้ง
- สาระน่ารู้ : ทำเพลงง่าย ๆ ด้วย AI
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…