จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 73 – สาระน่ารู้ เรื่อง การจัดอันดับมหาวิทยาลัยคืออะไร มารู้จักกันเถอะ (ตอนที่ 2)

Newsletters

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยคืออะไร มารู้จักกันเถอะ (ตอนที่ 2)

เรื่อง : อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง

        สวัสดีค่ะ ฉบับที่แล้ว เราได้รู้จักการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกันแล้วว่าคืออะไร มีเกณฑ์ในการจัดอันดับอย่างไร ฉบับนี้เรามารู้จักการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยสถาบันหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับและรู้จัก รวมถึงเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับของแต่ละที่กันค่ะ ในแต่ละปีจะมีการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยโลกออกมาจากสถาบันต่างๆ เช่น Times Higher Education World University Rankings (THE), Quacquarelli Symonds (QS) World University Rankings, SCImago Institutions Rankings, University Ranking by Academic Performance, Round University Rankings, UniRank, Ranking Web of Universities, U.S. News Best Global Universities เป็นต้น ซึ่งสถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากลนั้นมี 3 สถาบัน ดังนี้
        1. Academic Ranking of World University (ARWU) เป็นการจัดอันดับจากมหาวิทยาลัย Jiao Tong ของประเทศจีน โดยต้องการยกระดับมหาวิทยาลัยของประเทศจีนให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยเกณฑ์การพิจารณาการจัดอันดับของ ARWU นั้น ประกอบด้วย 6 เกณฑ์ ดังนี้
            • Alumni (10%) จำนวนศิษย์เก่าที่ได้รับรางวัลโนเบลและรางวัลเหรียญฟีลดส์
            • Award (20%) จำนวนบุคลากรที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ เคมี การแพทย์และเศรษฐศาสตร์ และรางวัลเหรียญฟีลดส์
            • Highly Cited Researcher (20%) จัดทำและเผยแพร่โดย Clarivate Analytics เพื่อประเมินคุณภาพบุคลากร
           • Nature และ Science (20%) จำนวนบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature และ Science
           • Publication (20%) จำนวนบทความเฉพาะ Article ที่ถูกทำดัชนีใน Science Citation Index-Expanded (SCIE) และ Social Science Citation Index (SSCI)
           • Per Capita Performance (10%) ARWU จะนำคะแนนถ่วงน้ำหนัก (Weighted Scores) ของตัวชี้วัดทั้ง 5 ตัวมาคำนวณและหารด้วยจำนวนบุคลากรทางการศึกษา
        2. Time Higher Education (THE) การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ THE เป็นจัดอันดับที่วัดประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยซึ่งรวมอยู่ในทุกพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่การเรียนการสอน การวิจัย การถ่ายทอดความรู้และภาพลักษณ์มุมมองในระดับนานาชาติ โดย THE มีเกณฑ์การพิจารณา 5 ด้าน ประกอบด้วย 13 ตัวชี้วัด ดังนี้
            • Teaching (which evaluates the learning environment) (30%) การเรียนการสอน (สภาพแวดล้อมการเรียนรู้)
            • Research (30%) การวิจัย (ปริมาณ รายได้และชื่อเสียง)
            • Citations (influence of research) (30%) การอ้างอิง (ผลงานวิจัย)
            • International Outlook (7.5%) ภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ (เจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย นักศึกษาและการวิจัย)
            • Industry Income (2.5%) รายได้ทางด้านอุตสาหกรรม (การถ่ายทอดความรู้)
        จะเห็นได้ว่า THE จะให้ความสำคัญกับด้านวิจัย แต่ยังมีการพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ด้านอื่นๆ ที่มีความหลากหลายซึ่งครอบคุลมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยมากกว่าการจัดอันดับของ ARWU
        3. Quacquarelli Symonds (QS) World University Rankings (QS) เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากประเทศอังกฤษที่ได้แยกตัวมากจาก THE โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูล Elsevier’s Sopus โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 9 ด้านในปี พ.ศ. 2567 ดังนี้
            • Academic Reputation : ความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (30%)
            • Employer Reputation : การเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง (15%)
            • Citations per Faculty : การอ้างอิงต่ออาจารย์ (20%)
            • Faculty Student : สัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษา (10%)
            • International Faculty : สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ (5%)
            • International Student : สัดส่วนของนักศึกษาชาวต่างชาติ (5%)
            • Employment Outcomes: ผลลัพธ์ด้านการจ้างงาน (5%) (ตัวชี้วัดเพิ่มเติม)
            • International Research Network: เครือข่ายวิจัยนานาชาติ (5%) (ตัวชี้วัดเพิ่มเติม)
            • Sustainability: ความยั่งยืน (5%) (ตัวชี้วัดเพิ่มเติม)
        เมื่อเปรียบเทียบเกณฑ์ในการจัดอันดับสถาบันการจัดอันดับทั้ง 3 แห่ง จะเห็นได้ว่าในภาพรวมTHE กับ QS มีเกณฑ์การให้คะแนนที่คล้ายคลึงกันและมีความหลากหลายมากกว่า ARWU เพราะมีการใช้ทั้งเกณฑ์ด้านการวิจัย ด้านการสอน ความเป็นนานาชาติ และความมีชื่อเสียง ที่ครอบคลุมกับบริบทของมหาวิทยาลัย แต่อย่างไรก็ตามผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็บ่งชี้ถึงความเป็นที่ยอมรับ ความมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณการวิจัย รวมถึงการตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ที่มา
– https://www.thaitopu.com/content/57 สืบค้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
– พิมพ์แพร ศรีสวัสดิ์ (2563) การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติและกลยุทธ์การปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทย วารสารบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร, 15(3), 1-12.
– Academic Ranking of World Universities (ARWU) – https://www.thailibrary.in.th/ สืบค้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
– https://www.topuniversities.com/world-university-rankings สืบค้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 42 views