จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 73 – สาระน่ารู้ เรื่อง เทรนด์การศึกษายุคใหม่ที่น่าจับตามอง

Newsletters

เทรนด์การศึกษายุคใหม่ที่น่าจับตามอง

เรื่อง : จตุรงค์ พยอมแย้ม

        อย่างที่ทราบกันว่าความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาในปัจจุบันเป็นผลมาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาโรคระบาด หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบการศึกษาในประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทันตั้งตัว สถานศึกษาต่าง ๆ ต้องหยุดการเรียนการสอน และเปลี่ยนรูปแบบการเรียนเป็นออนไลน์บนเนื้อหาการเรียนรู้แบบเดิมย่อมจะได้พบปัญหาทั้งจากผู้เรียนและผู้สอนอยู่บ่อยครั้ง จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเกิดรูปแบบการศึกษาและการสร้างสรรค์เนื้อหาแบบใหม่ขึ้นมา ทีนี้เรามาดูว่าเทรนด์การศึกษายุคใหม่ที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนควรจับตามองนั้นมีอะไรกันบ้าง
        Personalized Learning การเรียนรู้ส่วนบุคคล เป็นการเรียนรู้ตามจุดแข็ง ความต้องการ ทักษะ และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน เพราะผู้เรียนมีสไตล์การเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของตน การเข้าถึงของเทคโนโลยีที่ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้ส่วนบุคคลเป็นไปได้ง่ายและสามารถเข้าถึงตามเนื้อหา และทักษะที่สนใจได้มากยิ่งขึ้น งานวิจัยหลายตัวพบว่าการเรียนรู้ส่วนบุคคลช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความเร็วของตนเอง ช่วยปรับปรุงผลการเรียน และเสริมศักยภาพการเรียนรู้เฉพาะบุคคลได้ดี
        Blended learning การเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างเรียนแบบตัวต่อตัวและแบบออนไลน์ เป็นระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นซึ่งรองรับทั้งผู้เรียนทางไกลและผู้เรียนในพื้นที่ไปพร้อมกัน จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในประเทศไทย โดยการเรียนการสอนแบบออนไลน์ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย แม้ว่าในระยะแรกจะเกิดความยากลำบากทั้งจากการขาดความรู้และความชำนาญ แต่หลังจากผ่านช่วงเวลามาในระยะหนึ่งการเรียนรู้แบบผสมผสานได้กลายเป็นแนวทางการศึกษารวมการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิมทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้แบบผสมผสานก่อให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และตรงตามความต้องการศึกษาที่ยืดหยุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างมาก
        Experiential learning การเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นการเรียนรืที่ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จริงที่เชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีกับการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ โดยไม่ได้จำกัดแค่การศึกษาผ่านตำราเรียนเท่านั้น นอกจากนี้ การเรียนรู้จากประสบการณ์ยังช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มีมุมมองเกี่ยวกับโลกที่กว้างขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจและรับรู้ถึงคุณค่าของสังคม นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเรียนรู้จากประสบการณ์จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเองและทักษะความเป็นผู้นำของผู้เรียน นอกจากนี้จากความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กดดันให้ภาคธุรกิจต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างหลักสูตรที่มีทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่นำไปใช้ทำงานได้จริง โดยมื่อจบหลักสูตรหรือผ่านการประเมินก็สามารถฝึกงาน หรือสมัครงานในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ทันที
        Artificial Intelligence and Gamification ปัญญาประดิษฐ์และเกมเพื่อการเรียนรู้ คือการประยุกต์ใช้เกมเพื่อการเรียนรู้ การเรียนรู้รูปแบบนี้เป็นการผสมผสานเกมให้เข้ากับการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความสนุกและความท้าทายยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนการเรียนรู้เป็นการเล่นเกมที่มีคะแนน รางวัล หรือความท้าทายต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในห้องเรียนอีกด้วย เกมเพื่อการเรียนรู้จะกระตุ้นเกิดการหลั่งสารโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสุข ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้นและพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา นอกจากนี้การผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ ห้องเรียนเสมือนจริง (Metaverse) มาปรับให้เป็นห้องเรียนที่ผู้เรียนได้สัมผัสสภาพแวดล้อมแบบ 3 มิติ มีการโต้ตอบกัน สร้างการจำลองที่ปลอดภัย และก้าวข้ามข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ เข้ากับเทคโนโลยีการสอนผ่านการเล่นเกม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งเสริมเกมเพื่อการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเข้าใกล้เนื้อหาในโลกความเป็นจริงมากยิ่งขึ้นแม้ว่าจะนั่งอยู่ในห้องเรียนก็ตามจะเห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของอนาคตการศึกษาให้ก้าวข้ามข้อจำกัดของห้องเรียนแบบเดิม
        Social Emotional Learning: SEL การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมเป็นกระบวนการในการพัฒนาทักษะการตระหนักรู้ตนเอง การควบคุมตนเอง และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะเหล่านี้จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากผู้เรียนจะได้ฝึกความเข้าใจและจัดการ อารมณ์ของตนเอง ทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น พัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวกกับบุคคล เป็น การวางรากฐานสำหรับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี
        จะเห็นว่าการศึกษาของประเทศไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทั้งผู้เรียนและผู้สอนอยู่เสมอ เพราะคนเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงได้ อยู่ที่จะเริ่มเปลี่ยนหรือถูกบังคับให้เปลี่ยน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจึงเป็นทางออกสำคัญ เพื่อให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มา
https://www.dprep.ac.th/th/5-educational-trends-2024/
https://www.disruptignite.com/blog/8-trends-of-future-education
https://moe360.blog/2024/01/12/trends-in-world-education/

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 1.00 out of 4)
Loading…
Views : 53 views