ครอบครัวสมัยใหม่
เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์
สาระน่ารู้ฉบับนี้ ผู้เขียนตั้งใจชวนทุกท่านมาเพลินไปกับเรื่องราวสด ๆ ร้อน ๆ เกี่ยวกับครอบครัว ที่คนไทยจะได้มีทางเลือกให้กับตัวเองมากขึ้น คือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการผ่านกฎหมายว่าด้วยสิทธิเท่าเทียมในการแต่งงานหรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั่นเอง โดยในที่นี้ คงไม่ได้พาทุกท่านไปถกเถียงกับกฎหมาย แต่จะมาชวนคิดชวนคุยกันแบบ 2 มุมมอง โดยมุมมองแรก เป็นฝ่ายผู้มีแนวคิดตรงข้ามกับผู้เห็นด้วยกับลักษณะทางกฎหมายฉบับดังกล่าว อีกมุมมองหนึ่ง เป็นผู้เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับที่ประเทศไทยจะได้มีกฎหมายลักษณะนี้ออกมาใช้
1. กลุ่มที่มีแนวคิดคัดค้านการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การแต่งงานหรือการมีครอบครัวย่อมเป็นสิทธิของผู้เลือกอยู่แล้ว คงไม่มีใครไปห้ามใครแต่งงานหรือมีครอบครัว เรียกว่าหากผู้ใดผู้หนึ่งจะแต่งงานหรือมีครอบครัวก็คงมีแต่คนเห็นด้วยอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้มีแนวคิดคัดค้านหรือไม่สนับสนุนนั้น ส่วนหนึ่งมองว่าหากให้มีกฎหมายเช่นนี้ได้ การแต่งงานหรือการมีครอบครัวจะมีบุตรไว้สืบต่อสกุลด้วยเลือดเนื้อเชื้อไขของตนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ คงทำได้แค่เอาผู้อื่นหรือลูกหลานคนอื่นมาเลี้ยงดูเป็นบุตรเท่านั้น ฉะนั้น ถ้ามองในแง่ครอบครัวแบบที่เคยเป็นมาก่อนการเกิดกฎหมายฉบับนี้ ความเป็นครอบครัวก็จะเป็นไปในลักษณะทำให้สังคมคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมีผู้สืบสกุลนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากแนวคิดทางสังคมวิทยาที่ได้ระบุไว้แล้วว่าครอบครัวนั้นเป็นสังคมขนาดเล็ก เมื่อครอบครัวเปลี่ยนลักษณะไป จึงเป็นไปได้ที่ผลที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวมย่อมจะแตกต่างไปจากเดิมแน่นอน โดยเฉพาะผลร้ายกับครอบครัวและสังคมโดยส่วนใหญ่
2. กลุ่มที่มีแนวคิดสนับสนุนการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวคือผู้มีแนวคิดเช่นนี้ มองว่าการจะแต่งงานหรือมีครอบครัวจะเป็นลักษณะแบบไหนก็น่าจะเป็นสิทธิที่พึงทำได้ อีกนัยหนึ่ง ทุกคนย่อมมีสิทธิในชีวิตตนเอง ดังนั้น การเลือกที่จะแต่งงานกับเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ก็ย่อมที่จะสามารถเลือกกระทำได้ ทั้งนี้ การให้มีสิทธิในเรื่องดังกล่าวย่อมเท่ากับการที่สังคมไทยยอมรับความเท่าเทียมกันหรือเสมอภาคกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ดังจะเห็นได้จากที่ระบบครอบครัวหรือการแต่งงานแบบเดิมดูเหมือนว่าฝ่ายชายจะถือความได้เปรียบ ส่วนฝ่ายหญิงนั้นเสียเปรียบเต็ม ๆ อยู่แล้ว สรุปแล้ว การให้มีกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ย่อมเป็นผลดีกับทุกเพศ คงไม่ใช่แค่เพศใดเพศหนึ่งแน่นอน
กล่าวสรุปโดยรวมแล้ว เรื่องนี้ ทุกท่านจะคัดค้านหรือเห็นด้วย ก็ลองตั้งคำถามกับตนเองดู สำหรับในทางกฎหมายแล้วคงทำไม่ได้ เพราะได้ผ่านกฎหมายไปแล้ว เพียงแต่ทุกคนในฐานะเป็นสมาชิกของคนสังคมก็ควรที่จะได้ร่วมกันคิดถึงอนาคตร่วมกัน ด้วยต่อไป ระบบและกลไกต่าง ๆ ของสังคมย่อมจะเกิดผลลัพธ์ในทางดีหรือทางร้ายแน่นอน อย่างที่ใกล้ที่สุดที่จะเกิดผลก็คือระบบครอบครัวไทยจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนครอบครัวสมัยใหม่หรือคนรุ่นใหม่เข้าใจว่าคงพอรับได้และน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะทำให้บางคนในสังคมไทยที่มีความรู้สึกว่าลักษณะกฎหมายแบบเดิมนั้นกดทับไว้ ตอนนี้ก็ได้มีพื้นที่ในทางสังคมและอื่น ๆ อีกมาก อีกประการหนึ่ง หากผลที่จะเกิดเป็นแง่ร้าย คงเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในครอบครัว เพราะความเป็นพ่อและแม่ในครอบครัวนั้นผูกติดอยู่กับเพศกำเนิด เพราะหากความเป็นครอบครัวเปลี่ยนไป ความเป็นพ่อและความเป็นแม่ก็จะต้องถูกนิยามใหม่ไปด้วยนั่นเอง จึงได้แต่คาดหวังว่าทุกคนจะไม่สับสนกับครอบครัวสมัยใหม่กัน
- หน้าแรก
- EDITOR’S NOTE
- ศึกษาปริทัศน์ : เทคโนโลยีสารสนเทศกับสุขภาวะของครอบครัวสมัยใหม่
- นวัตกรรมจากสถาบัน : แบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกชื่อ ZleepAnlystNet สำหรับการจำแนกระดับการนอนหลับโดยอัตโนมัติจากข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าสมองช่องเดียว
- สาระน่ารู้ : การถอดเสียงพูดจากไฟล์ให้เป็นข้อความโดย GPT-3.5 Turbo API
- สาระน่ารู้ : สร้างภาพด้วย AI : เขียน prompt อย่างไร ให้ตรงใจ
- สาระน่ารู้ : บุหรี่: มหันตภัยในมวนเล็ก ๆ ที่คุกคามสุขภาพ
- สาระน่ารู้ : ประโยชน์ของ AI กับการทำวิจัยและผลงานวิชาการ
- สาระน่ารู้ : ครอบครัวสมัยใหม่
- สาระน่ารู้ : การอบรมบริการวิชาการสำหรับผู้เรียนวัยมัธยมศึกษาในศตวรรษที่ 21 : เส้นทางสู่ความสำเร็จในการเรียน
- สาระน่ารู้ : มาเรียนรู้เรื่องการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(1 votes, average: 4.00 out of 4)Loading…