จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 74 – สาระน่ารู้ เรื่อง มาเรียนรู้เรื่องการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา

Newsletters

มาเรียนรู้เรื่องการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา

เรื่อง : จตุรงค์ พยอมแย้ม

         “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมานาน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจหรือสังคม โดยเฉพาะการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการที่เด็กไทยหลายคนมีความสามารถ แต่ขาดโอกาสและทุนทรัพย์ที่จะต่อยอดทักษะของพวกเขา ทำให้ประเทศต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในระยะยาว
        ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ การที่มีความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาแตกต่างกัน เนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมอันส่งผลให้เกิดปัจจัยส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน โดยผู้ได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่า ย่อมมีโอกาสในการเลือกระดับคุณภาพของการศึกษาที่มากกว่าผู้ที่มีปัจจัยและทรัพยากรที่น้อย
        จากรายงานความเหลื่อมล้ำที่จัดทำโดย กสศ. หรือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าครอบครัวยากจนในประเทศไทยมีรายได้ลดลงจากผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาของนักเรียนในหลายๆครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือ เข้าใจในความเหลื่อมล้ำ เพื่อหาหนทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยจากการศึกษาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยพบว่ามีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางสังคม เช่น
        ภูมิลำเนา และสภาพแวดล้อมของผู้เรียน
        ภูมิลำเนา และสภาพแวดล้อมของผู้เรียนที่แตกต่างกัน อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาได้ เนื่องจากองค์ความรู้ และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ มักถูกพัฒนา และกระจุกตัวอยู่ภายในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าชนบท อีกทั้งอัตราการแข่งขันทางการศึกษาที่สูงมากในพื้นที่เขตเมือง ทำให้เกิดเป็นสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่ดี ในขณะที่พื้นที่ชนบทไม่ได้มีบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้มากเท่าในเมือง
        ฐานะทางสังคม และเศรษฐกิจ
        ฐานะทางสังคม และสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจส่งผลต่อความสามารถของครอบครัวในการสนับสนุน หรือส่งเสริมด้านการเรียนของบุตรหลานได้มากน้อยแตกต่างกันไป อาจกล่าวได้ว่าครอบครัวใดที่มีฐานะทางสังคม และสภาพทางเศรฐกิจที่ดี ย่อมมีตัวเลือกในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมากกว่า
        วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของครอบครัว
         ครอบครัวเปรียบเสมือนทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของบุคคล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยครอบครัวที่มีการดูแลเอาใจใส่ มักมีการส่งเสริม หรือแสวงหาโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้ลูกหลาน ในทางตรงกันข้าม หากครอบครัวใดที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา หรือไม่ได้ใส่ใจบุตรหลานมากเพียงพอ อาจมีแนวโน้มว่าบุตรหลานจะไม่ใส่ใจ และไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังนั้น การที่เด็กแต่ละคนเติบโตมาในสภาพสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อาจได้รับการขัดเกลาทางสังคมในด้านการให้ความสำคัญกับการศึกษาที่แตกต่างกัน
        จากตัวอย่างที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาในไทย เกิดขึ้นมาจากทั้งสาเหตุปัจจัยในระดับโครงสร้างทางสังคม และปัจจัยส่วนบุคคล ทำให้เด็ก และเยาวชนจำนวนมากต้องเสียโอกาสที่ดีในการได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่ควรได้รับ อีกทั้งการพัฒนา และการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่เท่าเทียมกัน อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตด้วยเช่นกัน ยิ่งประเทศไทนกำลังเดินทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยแล้วนั้น หารทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573 จึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายนี้ยังต้องการมั่นใจว่าทุกคนจะสามารถสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะมีผู้ที่อ่านออกเขียนได้จำนวนมากขึ้น เด็กผู้หญิงได้ไปโรงเรียนมากขึ้นกว่าเดิม และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะการศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ที่มา
https://www.sdgmove.com/intro-to-sdgs/
https://blog.cheewid.com/social-empowerment/educational-inequality-issues/

สารบัญ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 180 views