จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 75 – ศึกษาปริทัศน์ เรื่อง นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

Newsletters

นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

เรื่อง : ดร.มนัสวี มนต์ปัญญาวัฒนา

        บทความเรื่องต่อไปนี้ ผู้เขียนจะได้นำเสนอเกี่ยวกับนวัตกรรม หรือ Innovation เพื่อพัฒนาการศึกษา ที่ทุกวันนี้คนทำงานทั้งหลาย ไม่ว่าจะทำในอาชีพอะไรหรือทำงานอยู่หน่วยงานไหน เช่น ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชน เป็นต้น สิ่งที่จะต้องคิดและทำให้เกิดขึ้นในสิ่งที่ทำคือทำให้เกิดนวัตกรรมในสิ่งที่ทำให้ได้ แต่เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นอยู่นั้น การเกิดนวัตกรรมนั้นเป็นเรื่องยากมาก เรียกว่ายากเสียจนทำให้แต่ละคนไม่อยากจะทำงานเชิงนวัตกรรมกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนใหญ่ด้วยคือความไม่ชัดเจนหรือความไม่เข้าใจในความเป็นนวัตกรรมตามบริบทงานหรือบริบทที่ควรจะเป็นในตำแหน่งหน้าที่การงานมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องนี้กับวงการทำงาน โดยเฉพาะในวงการการศึกษาที่ผู้เขียนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ต่อไปจึงจักได้นำรายละเอียดซึ่งได้รับฟังมาจากท่านผู้รู้ทั้งหลายและจากการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารต่างๆ ที่สอดคล้องกันมานำเสนอดังต่อไปนี้
        1. นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาเชิงความคิด เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว หลายคนมักจะคิดว่านวัตกรรมนั้นจะต้องเป็นสิ่งใหม่และเป็นสิ่งที่สามารถสัมผัสหรือจับต้องได้เท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่จัดว่าเป็นนวัตกรรมเลย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นนวัตกรรมนั้นมีหลากหลายรูปแบบและมีหลายสิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งเราหันมามองในบริบทสังคมตะวันออกหรือสังคมไทยด้วยแล้วยิ่งชัดเจน เพราะสังคมแบบไทย ๆ หรือสังคมตะวันออกนี้มีพื้นฐานที่เข้มแข็งในเรื่องนามธรรม ศาสนา ปรัชญา ความคิด ภูมิปัญญา หรือแม้แต่วัฒนธรรมอันสวยงาม ฉะนั้น ความเป็นนวัตกรรมย่อมต้องถูกพัฒนาต่อยอดมาจากสิ่งเหล่านี้ที่มีนั่นเอง ดังเช่นที่สังคมไทยกำลังเป็นกระแสกันมาเป็นระยะหนึ่งแล้วคือการใช้กระบวนการส่งเสริมและพัฒนาผ่านแนวคิด Soft Power นั่นเอง โดยหากจะทำให้การศึกษาที่เป็นอยู่พัฒนายิ่งขึ้นผ่านนวัตกรรมเชิงความคิดแล้ว จำเป็นต้องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายหรือผู้ดำเนินการในเรื่องนั้นจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ชัดเจนจนสามารถตรวจสอบได้ถึงความสมเหตุสมผลในประเด็นปัญหาทางการศึกษา แล้วนำไปบูรณาการใช้ผ่านระบบและกลไกต่าง ๆ จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นผลได้ชัดในบริบทเดิม ๆ พร้อมทั้งมีผู้อื่นนำไปทดลองใช้ตามความคิดดังกล่าวจนเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์
        สรุปแล้ว นวัตกรรมทางการศึกษาเชิงความคิดที่นำเสนอมานี้ดูเหมือนจะง่ายมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมทางความคิดเพื่อพัฒนาการศึกษานี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะเป็นบันไดขั้นแรกแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากที่วงการการศึกษาไทยเราไม่ค่อยจะมีอะไรใหม่ ๆ เชิงสร้างสรรค์นั้นก็เป็นเพราะการไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดความใหม่หรือนวัตกรรมในเชิงความคิดนี่เอง กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นการศึกษาแนววิทยาศาสตร์หรือแนวสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นั้นเมื่อได้นำกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรมมาขับเคลื่อนด้วยการตั้งคำถามกับบรรยากาศทางศึกษาแบบเดิม ๆ แล้วยกระดับไปสู่การศึกษาที่พัฒนาแล้ว ซึ่งก็มีผู้เรียนหรือประชาชนในสังคมโดยรวมได้ประโยชน์นั่นเอง
        2. นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาเชิงกระบวนการ ตามที่กล่าวแล้วในข้อที่ 1 ที่ระบุว่านวัตกรรมหรือสิ่งใหม่นั้นทำให้เกิดการตั้งคำถามกับการทำงานในระบบการศึกษาจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นนั้นจัดว่าการศึกษาได้รับการพัฒนาผ่านการใช้นวัตกรรมเชิงความคิดแล้ว ส่วนถ้าเราจะหันมามองเรื่องนวัตกรรมที่เราคุ้นชินอยู่แล้ว แต่ทุกคนที่อยู่กับงานก็อาจจะยังมองไม่ออกหรือมองไม่เห็นก็มี ก็คือนวัตกรรมเชิงกระบวนการเพื่อพัฒนาการศึกษา ซึ่งมีความแตกต่างจากนวัตกรรมเชิงความคิดอย่างเห็นได้ชัด เพราะกระบวนการนี้เป็นสิ่งที่คนทำงานนั้นได้ปฏิบัติจนเป็นกิจจะลักษณะอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีการยกระดับในสิ่งที่ทำหรืองานที่มีให้เป็นระบบที่สามารถตรวจสอบได้และใคร ๆ ที่นำไปทดลองใช้หรือปฏิบัติตามก็เห็นผลลัพธ์ตามที่ระบุไว้ ดังจะเห็นจากที่เรายอมรับกันในทำงานการศึกษาที่เรียกว่าการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management นั่นเอง ดังนั้น หากเราเห็นความสำคัญในงานที่ทำอยู่แล้วยกระดับให้เป็นความรู้เชิงนวัตกรรมเพื่อการทำงานการศึกษาในบริบทหน้าที่และตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง ย่อมทำให้เกิดการขยายองค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการทำงานดังกล่าวจนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะผู้นำไปปฏิบัติตามแล้วได้รับผลตามองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมา ยิ่งในวงการการศึกษาด้วยแล้ว การยกระดับระบบและกลไกการทำงานตามบริบทที่รับผิดชอบย่อมจะทำให้งานเกิดผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์และเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ด้วยการดำเนินการเช่นนั้นได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและประชาคมโดยรวมให้การยอมรับ
        สรุปแล้ว นวัตกรรมทางกระบวนการที่จะนำมาช่วยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบนี้ก็คือการให้ความสำคัญ การเห็นคุณค่า และการยกระดับระบบการทำงานที่แต่ละคนคุ้นเคยมาเป็นความรู้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งแต่ละคนที่ทำงานในองค์กรสามารถที่จะนำไปบูรณาการใช้จนเกิดผล แล้วทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน สามารถส่งต่อเนื้องานระหว่างกันและกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เกิดความผิดพลาดน้อยและทำให้เกิดความประทับใจต่อผู้มาติดต่อประสานงาน ดังจะเห็นได้จากที่แต่ละองค์กรได้ส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงานได้ยกระดับงานที่ทำให้เป็นความรู้สำหรับองค์กร บุคลากรอื่น ๆ ในองค์กร และผู้สนใจทั่วไป เพื่อจะได้ประโยชน์กันอย่างถ้วนหน้า เรียกว่าทำให้งานที่ทำอยู่เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในที่สุด
3. นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาเชิงผลลัพธ์ ประการสุดท้ายเกี่ยวกับนวัตกรรมเชิงผลลัพธ์ที่จะช่วยในการพัฒนาการศึกษาหรือการทำงานโดยทั่วไปนี้หมายถึงการจัดการศึกษาจะทำตามแบบที่ทำกันมาเรื่อย ๆ ไม่ได้ กล่าวคือการบริหารการศึกษาในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับหลักสูตรหรือระดับการบริการทั่วไป หากไม่นำผลหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจากปีการศึกษาที่แล้วมาเป็นพื้นฐานในการคิดวิเคราะห์พัฒนาแล้วสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นช่องโหว่ การดำเนินงานการศึกษาเช่นนี้ก็จะเป็นการย่ำอยู่กับที่ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องคิดกันให้มากว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรในอนาคต เพราะเมื่อไม่สามารถคิดมองการทำงานที่ให้ผลลัพธ์ดังกล่าวได้ จึงไม่มีทางจะเกิดนวัตกรรมเชิงผลลัพธ์ได้เช่นเดียวกัน ส่วนถ้าประสงค์จะให้เกิดนวัตกรรมทางศึกษาจนเกิดผลลัพธ์นั้น ผู้ทำงานการศึกษาต้องมีแผนการทำงานอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นที่จะให้เกิดนวัตกรรมอะไรขึ้น ซึ่งการเกิดนวัตกรรมทางการศึกษานี้ไม่จำเป็นจะต้องรอให้สิ้นสุดปีการศึกษาก็ได้ เพราะนวัตกรรมทางการศึกษานี้สามารถที่จะเกิดผลลัพธ์ได้ทุกขณะ โดยอาจเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เกี่ยวข้องในประเด็นการศึกษานั้น ๆ เช่น เกิดครูหรืออาจารย์ผู้สอนต้นแบบ หรือเกิดชิ้นงานใหม่ที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติในขณะจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เป็นต้น ดังนั้น นวัตกรรมทางศึกษาในข้อนี้จึงถือว่ามีความสำคัญและน่าจะระบุถึงได้ง่ายกว่า 2 ข้อที่แล้ว เพราะเน้นไปที่สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหรือสัมผัสได้เลย
        สรุปแล้ว นวัตกรรมเชิงผลลัพธ์ที่เป็นสิ่งตอบโจทย์ในการพัฒนาการศึกษานี้ย่อมเป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกันกับที่วงการอื่น ๆ ต้องการให้เกิดนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและรวดเร็วในการทำงาน การใช้ชีวิต และการจัดการพัฒนาสังคมโดยรวม ดังจะเห็นได้จากที่สังคมใดที่สามารถพัฒนานวัตกรรมเชิงผลลัพธ์ได้ย่อมทำให้เกิดเงินทองหรือมูลค่าเป็นกำไรได้อย่างมากมาย ดังเช่นที่หลาย ๆ มหาวิทยาลัยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมผลลัพธ์จากงานวิจัยจนสามารถทำให้นักวิจัยและองค์กรได้รับเชื่อถือ พร้อมทั้งทำให้องค์กรเป็นที่ต้องการของสังคมอีกด้วย
        จากที่กล่าวมาทั้งหมด เรื่องนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ผู้เขียนจัดแบ่งเป็น 3 ข้อ คือ นวัตกรรมเชิงความคิด นวัตกรรมเชิงกระบวนการ และนวัตกรรมเชิงผลลัพธ์ เป็นการประเมินความเป็นนวัตกรรมหรือเป็นสิ่งใหม่ทางการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งถ้าหันมามองที่สังคมไทยแล้ว การพินิจพิจารณาหรือการพูดถึงนวัตกรรมในการทำงานการศึกษาก็ให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก กล่าวคือเมื่อพูดเรื่องการบริหารจัดการองค์การ การจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนานักศึกษาของสถาบันการศึกษา ย่อมควรที่จะได้มีคำถามอยู่ทุกปีว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างหรือเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษาก่อน ๆ อย่างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ปีย้อนหลังแล้วเกิดทิศทางที่เหมาะสมต่อองค์กรอย่างไร ดังเช่นที่สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้หรือมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมานั่นเอง จึงจัดได้ว่านวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ทั้ง 3 ข้อที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น เป็นกรอบใน “การคิด การสร้าง และการทำ” นวัตกรรมขึ้นในสถาบันการศึกษาได้ ด้วยเมื่อองคาพยพทางการศึกษาสามารถทำ “ให้เกิด ให้มี และให้เป็น” นวัตกรรมแล้ว “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ย่อมเกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาและสังคมทั้งหมดได้

สารบัญ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (2 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 29 views